Disney บริษัทค้าความฝันที่ไม่ขายฝัน

ถ้าพูดถึง Disney แล้วนึกถึงอะไรกันบ้าง? บางคนอาจจะคิดถึงเจ้าหนู Mickey Mouse บางคนอาจจะคิดถึงภาพยนตร์การ์ตูนแบบ Lion King, Aladdin, Mulan ฯลฯ

ถ้ามานั่งสำรวจกันดีๆแล้ว จะพบว่าเครือข่ายบริษัทของ Disney นั้น มีกิจการหลากหลายรูปแบบมาก ทั้งสตูดิโอภาพยนตร์และเกม, อสังหาริมทรัพย์ อาทิ โรงแรมและสวนสนุก, ช่องข่าวและสารคดี, สินค้าลิขสิทธิ์ เช่น ของเล่นและของสะสม ไปจนถึงบริการเรือเดินสมุทร และล่าสุด Disney+ ระบบสตรีมมิ่งสำหรับดูซีรีส์และหนัง เรียกได้ว่า Disney เป็นผู้ค้าประสบการณ์ความบันเทิงระดับยักษ์ใหญ่ของโลก

ซึ่งการที่ Disney ประสบความสำเร็จได้ขนาดนี้ ทุกอย่างเริ่มต้นมาจากศิลปินคนหนึ่งกับการ์ตูนหนู Mickey Mouse ของเขา จินตนาการได้พาเขาสู่การเป็นเจ้าของสวนสนุกยักษ์ใหญ่และบริษัทของเขากลายเป็นเจ้าพ่อสื่อบันเทิงของโลกในเวลาต่อมา

“If you can dream it, you can do it.” – ถ้าคุณฝันถึงมันได้ คุณก็ทำมันได้ นี่เป็นคำพูดของ Walt Disney เจ้าพ่ออาณาจักร Disney ที่ช่วยผลักดันให้คนกล้าทำตามฝัน และคนที่กำลังตามฝันก็อย่าได้ย่อท้อ

Walt Disney (วอลต์ ดิสนี่ย์) มีความสามารถหลากหลาย เขาเป็นทั้งศิลปิน นักวาด, นักเขียน, ผู้พากษ์เสียง (เขาพากษ์เสียง Mickey Mouse ด้วยตัวเอง) เป็นผู้กำกับ และหลังจากประสบความสำเร็จด้านศิลปะแล้ว เขายังผันตัวมาเป็นนักบริหารและลงทุนอีกด้วย

ชีวิตของ Disney มองจากภายนอกแล้วอาจจะดูน่ารัก เพราะเขาทำงานเกี่ยวกับการ์ตูน แต่ที่จริงแล้วมันก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ มีช่วงเวลาในชีวิตที่เขาต้องล้มลุกคลุกคลานอยู่บ่อยครั้ง ครั้งที่เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตเขาเลยคือตอนที่ตัวละครสร้างชื่อของเขา “Oswald the Lucky Rabbit” ถูกบริษัท Universal หุบลิขสิทธิ์ไป เขาสูญเสียผลงานชิ้นสำคัญ ตกงาน กลายเป็นคนล้มละลาย แม้แต่ทีมงานวาดการ์ตูนของเขาก็ถูกพรากไปหมดสิ้น แต่ด้วยเรื่องทั้งหมดนี้ ทำให้ Disney หันมาสร้างผลงานตัวการ์ตูนของตัวเอง ซึ่งก็คือ Mickey Mouse เจ้าหนูที่อยู่ในความทรงจำของคนแทบทั้งโลกจากอดีตมาถึงปัจจุบัน

(โปสเตอร์ Oswald the Lucky Rabbit / Walt Disney และ Mickey Mouse ภาพจาก Wikipedia)

Walt Disney มีวิธีคิดและการวางแผนสร้างธุรกิจอันเป็นเอกลักษณ์
โดยเริ่มต้นจากการสร้างตัวละครหรือ Mascot ของแบรนด์ก่อน เหมือนที่ LINE มีเจ้าหมี Brown และกระต่าย Cony ซึ่งจากตัวละครหนึ่งตัวนี้ ได้ถูกนำไปต่อยอดสร้างช่องทางทำเงินให้กับ Disney อีกมากมาย เพราะเมื่อตัวละครหนึ่งตัวได้เข้าไปนั่งอยู่ในใจของผู้คนแล้ว ไม่ว่าหลังจากนั้นตัวละครนี้จะพูดอะไรก็ไม่ยากที่จะทำให้คนสนใจรับฟัง

หากดูเผินๆ แล้ว Mickey Mouse และผองเพื่อนอาจจะเป็นแค่ตัวละครที่โลดแล่นอยู่ในโลกแห่งความฝัน ให้ความบันเทิงกับผู้ชม แต่สำหรับ Disney แล้ว ตัวละครเหล่านี้มีบทบาทสำคัญมากในการเชื่อมโยงผู้คนเข้ากับโลกภายในใจของผู้ชมแต่ละคน เมื่อ Disney ชวนคุณมาฝันร่วมกัน เขาไม่ได้ชวนคุณมาฝันหาเงินล้านด้วยกัน แต่เขาชวนคุณมาเชื่อมต่อกับตัวคุณเองในวัยเด็กอีกครั้ง ที่ซึ่งความฝันและจินตนาการไม่มีวันตาย ที่ซึ่งความสุขและความหวังจะยังงดงามอยู่เสมอ หากว่าคุณเป็นคนหนึ่งที่ขับเคลื่อนชีวิตด้วยแรงบันดาลใจและความสุนทรีย์ การ์ตูน Disney อยากจะช่วยรักษาสิ่งเหล่านั้นไว้ให้กับคุณ เพื่อให้คุณยังมีความเป็นคนเต็มคนอยู่เสมอไป

(“กฎหมาย, การแพทย์, ธุรกิจ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนประกอบสำคัญในการดำรงชีวิต แต่บทกวี ความงดงาม ความโรแมนติก ความรัก สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ทำเราอยากมีชีวิตอยู่” – คำพูดตอนหนึ่งจากภาพยนตร์ Dead Poet Society อำนวยการสร้างโดย Touchstone Pictures สตูดิโอภาพยนตร์ในเครือของ Disney)

กิจการและผลงานสร้างสรรค์ของ Disney จะสะท้อนถึงหัวใจที่รักในจินตนาการและความฝันอยู่เสมอ ทำให้ผู้ที่มีด้านเหล่านั้นในใจเช่นเดียวกันรู้สึกเชื่อมโยงและผูกพันกับตัวละครของ Disney ได้ไม่ยาก บางคนจะพบว่าภาพยนตร์การ์ตูนของ Disney ที่มีความยาว 100 กว่านาทีมันช่างนาน แต่เรากลับรู้สึกมีส่วนร่วมกับเรื่องราวในหลายระดับ สามารถดูซ้ำได้เรื่อยๆ

การ์ตูน Disney จะพูดถึงการเดินทางผจญภัย เหมือนชีวิตคนทั่วไปที่ต้องพบอุปสรรคแต่สุดท้ายก็ก้าวผ่านไปด้วยการมีความหวัง ซึ่งในระหว่างทางก็จะเน้นเรื่องมิตรภาพ ครอบครัว ช่วยค้ำจุนชีวิต และแต่งเติมสีสัน ความสนุกสนาน สร้างความอบอุ่นและความตื่นเต้นไปเรื่อยๆ จนถึงจุดที่ต้องตัดสินใจเพื่อแก้ปัญหาและผลักตัวละครให้เติบโตขึ้นไปในอีกระดับ ทุกเรื่องแฝงไปด้วยบทเรียนดีดีที่สามารถเอามาปรับใช้ในชีวิตจริงได้

ตัวอย่างเช่นเรื่อง Winnie The Pooh มีตอนหนึ่งที่ Christopher Robin พูดกับเจ้าหมีพูห์ว่า “You are braver than you believe. Stronger than you seem. And smarter than you think” (นายกล้าหาญกว่าที่นายคิดเยอะนะ แข็งแรงกว่าที่นายรู้สึก และเก่งกล้ากว่าที่นายคิดด้วย) หรือเรื่อง Frozen ที่ให้บทเรียนแก่เด็กๆว่าคนเราควรเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน หากเรารักใครควรเอาใจเขามาใส่ใจเราก่อนความต้องการของตัวเองเสมอ เห็นได้จากฉากที่เจ้าหญิงเอลซ่ายอมเนรเทศตัวเองให้ไปอยู่ในดินแดนทางเหนืออย่างโดดเดี่ยว เพราะกลัวว่าพลังที่ตนเองมีจะทำร้ายคนที่รักและคนอื่นๆ

เมื่อ Disney เปิดสวนสนุก Disneyland พวกเขาก็ยังสร้างสวนสนุกอยู่บนความตั้งใจแบบเดียวกัน คือการกระตุ้นจินตนาการและความฝัน โดยให้ผู้เข้าชมสวนสนุกได้เดินทางและผจญภัยไปตามสถานที่ต่างๆ ได้เห็นตัวละครในจอหรือในกระดาษออกมาโลดแล่นในชีวิตจริง ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์ ตุ๊กตา หรือการแสดง สิ่งเหล่านี้ต่างก็เป็นตัวแทนของความฝันที่ยังชวนให้ผู้ชมคิดถึงเรื่องราวที่ตนเคยได้สัมผัส นอกจากนี้สวนสนุกยังเป็นที่ที่เหมาะกับการพาเพื่อนและครอบครัวของตัวเองมาร่วมผจญภัย สัมผัสความตื่นเต้นไปร่วมกัน ช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ของคนได้อีกด้วย

(ตัวการ์ตูน Woody จากการ์ตูนเรื่อง Toy Story ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากจากผู้ชมทั่วโลก ทุกเพศทุกวัย)

(Disney World เมือง Orlando รัฐ Florida ประเทศสหรัฐอเมริกา)

รู้จักกับอุโมงค์เสียงสะท้อนของ Disney

Walt Disney รู้จักแผนการทำสื่อแบบที่ปัจจุบันเรียกว่า “Cross Platform” มาตั้งแต่ตอนที่โทรทัศน์ยังไม่มีสี ดังนั้นสื่อออฟไลน์ต่างๆในยุคนั้นเป็นเหมือนอุโมงค์เสียงสะท้อนของเขา ที่เขาส่ง Mickey Mouse ออกไปป่าวประกาศก้องไปก้องมา ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในอาณาจักรของเขา ตัวอย่างสถานการณ์เช่น

1. แม็กกาซีนของ Disney ตีพิมพ์การ์ตูนช่องเกี่ยวกับ Mickey Mouse ขับเรือ พร้อมลงโฆษณาเมื่อกำลังจะมีการ์ตูน Mickey Mouse ออกอากาศทางโทรทัศน์ โดยเชิญชวนว่า “ลองเปลี่ยนจากการอ่านการ์ตูนช่อง ไปดู Mickey Mouse ที่ขับเรือไปด้วย ร้องเพลงไปด้วยทางโทรทัศน์ดีไหม?”

2. รายการ Mickey Mouse ขับเรือในโทรทัศน์ปิดท้ายรายการโดยประกาศว่าสวนสนุกกำลังจะมีเครื่องเล่นล่องเรือใหม่แบบที่ Mickey Mouse พึ่งจะใช้ผจญภัยมา ผู้คนก็สนใจอยากจะลองผจญภัยแบบ Mickey Mouse บ้าง

3. ผู้คนถึงสวนสนุกผ่านการเล่นเครื่องเล่น ดื่มด่ำกับเพลงที่คุ้นหู แล้วก็เจอตุ๊กตาหรือของใช้จิปาถะเกี่ยวกับ Mickey Mouse ขับเรือ ซึ่งพึ่งได้รับชมมาก็ซื้อไปสะสมไว้ กลายเป็นเครื่องรางที่กระตุ้นให้ย้อนกลับไปสำรวจการ์ตูนในนิตยสารอีกครั้ง


(สินค้าลิขสิทธิ์แท้จาก Disney น่าสะสมสุดๆ)

(Disney Cruise เรือสำราญดิสนี่ย์ที่ให้บริการในแถบ Alaska, Europe, Canada และ Bahamas เห็นสัญลักษณ์ Mickey Mouse มาแต่ไกล)

ซึ่งจนถึงปัจจุบัน Disney ก็ยังคงเป็นเจ้าแห่งการทำ Cross Platform และพวกเขาก็กุมหัวใจของแฟนๆ ได้อย่างอยู่หมัด ไม่ว่าจะเอา Content มาดัดแปลงลง Social Media ช่องทางต่างๆ หรือเอาตัวละครมาสร้าง Content สร้าง Meme ล้อกับสถานการณ์ในปัจจุบัน นอกจากนี้พวกเขายังนำ Content อมตะของพวกเขามาดัดแปลงและพัฒนาอยู่เรื่อยๆ เติมความอลังการด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย หรือปรับรูปแบบเป็นละครเพลง เป็นซี่รี่ส์ หรือภาพยนตร์คนแสดง โดยอาจมีการตีความเรื่องราวให้ต่างออกไป ก็ทำให้เหล้าเก่าในขวดใหม่ เกิดรสชาติที่แตกต่างชวนให้ลิ้มลองอีกครั้ง เช่น Disney On Ice ละครเพลงสั้นๆที่นำตัวละครจาก Disney เรื่องต่างๆมาเล่นสเก็ตน้ำแข็ง ซึ่งเดินทางไปหลายประเทศทั่วโลก (แน่นอนว่าประเทศไทยด้วย!)

ทั้งนี้ ไม่ว่าเรื่องราวจะเปลี่ยนแปลงไปเท่าไหร่ ก็ยังมีลายเส้นหรือตัวละครเดิมๆ ที่พวกเขาทิ้งไว้ชวนให้พวกเราคิดถึงอยู่เสมอ


(การแสดง Disney On Ice ตัวละครทุกตัวต้องมีความสามารถในการเล่นสเก็ตน้ำแข็ง ในประเทศไทยจัดที่อิมแพค อารีนา เมืองทองธานี)

(ภาพยนตร์มู่หลาน พากย์ไทย)

นอกจากนี้ เนื่องจากธุรกิจ Disney ได้กระจายตัวไปทั่วโลก เสน่ห์อีกอย่างที่ช่วยสร้างกระแสให้กับผลงานของ Disney ก็คือการทำ Localize ให้กับธุรกิจและ Content ของพวกเขา การ Localize หรือการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมของแต่ละประเทศช่วยสร้างสินค้าหรือประสบการณ์อันมีเอกลักษณ์เกี่ยวกับ Disney แบบที่คนพื้นที่เข้าใจได้ง่าย และเพิ่มโอกาสที่ Content ของพวกเขาจะได้รับการตอบรับที่ดีจากคนในสังคมนั้นนั้น

(รถไฟฟ้าใต้ดินประเทศฮ่องกง MTR Disneyland Resort Line ซึ่งเดินทางจากสถานที Sunny Bay ไปยังสถานี Hong Kong Disneyland เพียงสถานีเดียวเท่านั้น ตัวรถไฟภายนอกและภายในตกแต่งไปด้วยสัญลักษณ์ของ Disney นั่นคือหูมิกกี้เม้าส์สุดน่ารัก)

ตัวอย่างหนึ่งที่เคยเกิดเป็นไวรัลขึ้นมาในประเทศไทย ก็คือการทำคลิปการ์ตูนของ Mickey Mouse และ Minnie Mouse มาทำงานค้าขายอยู่ในตลาดน้ำบ้านเราเหมือนเป็นชาวไทยธรรมดา พร้อมนำเสนอความวุ่นวายในตลาดน้ำเป็นสีสันในการดำเนินเรื่อง การ์ตูนผ่านการคิดมาอย่างละเอียด มีการแสดงวัฒนธรรมการไหว้และทำอาหารไทย แถมตัวละครในเรื่องทุกตัวยังพูดภาษาไทยอีกต่างหาก ซึ่งแม้จะพูดไทย แต่ก็ยังพูดในสำเนียงอันเป็นเอกลักษณ์ของตัวละครแต่ละตัวซึ่งแฟน ๆ ต้องคุ้นเคย

ไฮไลต์อันเป็นที่พูดถึงกันมากจากในคลิปนี้ ก็คือคู่หูตัวละครกระรอก Chip & Dale ซึ่งร้องเพลงในจังหวะพื้นบ้าน ด้วยน้ำเสียงบีบๆ เหมือนอัดแก๊สฮีเลี่ยมอันเป็นเอกลักษณ์ ทำให้คลิปนี้นอกจากจะมีสอดแทรกความไทยๆ อย่างเต็มเปี่ยมแล้ว ยังมีเรื่องน่ารักและขำขันที่จี้จุดตายของคนไทยได้เป็นอย่างดี ส่งให้คลิปนี้เป็นที่พูดถึงกันมากมายบน Social Media ขึ้น Trending บนหลากหลายออนไลน์แพลตฟอร์ม จนหลายคนเอาเพลงที่ Chip & Dale ร้องไปพยายามแกะเนื้อเพลง บางคนถึงกับนอนหลอนอยู่หลายคืน (ดูคลิปได้ที่นี่)

การทำ Localize นี้ ไม่เพียงแต่ช่วยสื่อสารกับแฟนๆ ในท้องที่ แต่แฟนคลับ Disney ตัวยงในต่างประเทศก็อยากจะสะสมหรือมีโอกาสได้สัมผัส Creativity ที่ผสมผสานวัฒนธรรมจากแต่ละประเทศอยู่ด้วย จึงไม่แปลกถ้าในชีวิตเราจะเจอใครสักคนที่อยากจะเดินทางไปรอบโลก เพื่อไปชม Disneyland ของแต่ละประเทศ เพราะ Disneyland ในแต่ละประเทศนั้นแม้มีรากฐานที่เหมือนกัน แต่รูปแบบที่แสดงออกมาก็ล้วนแต่มีเอกลักษณ์จากที่ผ่านการ Localize กันมาแล้ว เช่น Disneyland ของประเทศจีน ก็มีไฮไลต์เป็นพาเหรดจากเรื่องมู่หลาน, Disney Sea ริมทะเลญี่ปุ่น ก็มีเครื่องเล่นสำรวจโลกใต้น้ำ เป็นต้น

(เครื่องเล่นสำรวจโลกใต้น้ำ มีที่ Disney Sea ประเทศญี่ปุ่นประเทศเดียวในโลก)

(Disney’s Magical Express รถโดยสารพิเศษจาก Disney พร้อมแล้วที่จะนำท่านไปสู้ Disney World รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา)

(Disney Store หรือร้านขายสินค้าลิขสิทธิ์แท้จาก Disney ในเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ตั้งอยู่ใกล้กับหอคอยไข่มุกซึ่งเป็นแลนด์มาร์กของเมืองนี้)

ธุรกิจของนาย Walt Disney เริ่มต้นมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1923 หรือร่วม 100 ปีมาแล้ว! อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าปัจจุบันกิจการของ Disney มีทั้งที่เป็นสื่อบันเทิง ไปจนถึงรีสอร์ทและเรือเดินสมุทร ซึ่งกิจการทุกประเภทล้วนแต่ถูกผ่านการใส่ความ Disney ไว้ ให้เหมือนเราได้ลองเข้าไปอาศัยอยู่ในโลกของตัวละครที่เราชื่นชอบ ภายใต้หัวใจเดียวกันที่ Disney ต้องการทำให้เราคิดถึงตัวเองในวัยเด็กไว้ อย่าได้หยุดฝัน อย่าได้หยุดจินตนาการ

(ห้องพักซึ่งสร้างในตีมการ์ตูนเรื่อง Alice in Wonderland ใน Disneyland Tokyo ประเทศญี่ปุ่น)

ปัจจุบัน Disney เข้าซื้อกิจการแฟรนไชส์ด้านความบันเทิงไปแล้วมากมาย ทั้ง Lucusfilm เจ้าของแฟรนไชส์ Star Wars, Marvel สตูดิโอเจ้าของแฟรนไชส์ซุปเปอร์ฮีโร่ของฝั่งโลกตะวันตก, Pixar สตูดิโอผลิตแอนิเมชั่น 3D ไปจนถึง 20th Century Studios สตูดิโอถ่ายทำภาพยนตร์ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นแฟรนไชส์ซึ่งมีองค์ประกอบคล้ายกับ Disney ทั้งนั้น คือมอบประสบการณ์ จินตนาการ และความบันเทิงให้กับผู้บริโภค รวมถึงแอปพลิเคชั่น Disney+ (Disney Plus) บริการใหม่จาก Disney ซึ่งเป็นระบบสตรีมมิ่งที่เจาะกลุ่มไปยังครอบครัว มีทั้งหนังและซีรีส์เรื่องใหม่และเก่าจากค่าย Disney, Pixar, MARVEL, STAR WARS และ National Geographic เรียกได้ว่า “Disney +” เป็นแอป ที่ตอบโจทย์คนชอบดูการ์ตูน ดูหนังฮีโร่ ดูหนังเจ้าหญิง ดูสารคดี ครบที่เดียว

ต้องรอดูกันต่อไปว่าจะมีใครกล้าท้าชิงตำแหน่งผู้นำด้านประสบการณ์ความบันเทิงนี้กับ Disney หรือไม่ สำหรับผู้เขียน คิดว่าที่น่าจับตาดูคงจะเป็นบริษัท Tencent จากประเทศจีน ซึ่งสร้างตัวจากการเป็นบริษัทเกม จนขณะนี้ได้ขยับมาสู่วงการภาพยนตร์ ดนตรี และอื่นๆแล้ว

Contributor

Karn Triamsiriworakul

Learned about reasoning from the school of law but landed job in marketing field to work toward his interest in art and psychology.

Contributor

Share this post with your friends

More Articles

blog
Katina Rinsawasdi

อยาก สร้างเว็บไซต์ ของตัวเอง ควรติดเครื่องมืออะไรบ้าง?

สำหรับยุคดิจิทัลนี้ การ สร้างเว็บไซต์ ถือเป็นเรื่องที่หลายๆ คนอาจจะยังไม่ถนัดมากนัก แต่รู้หรือเปล่าว่า เมื่อมีความคิดที่ว่า อยากมีเว็บไซต์สักเว็บไว้ดำเนินธุรกิจ หรือขายของออนไลน์ การติดตั้งเว็บไซต์ดูเหมือนจะเป็นเรืองง่ายๆ

Read More »
blog
Unbox Team

วิเคราะห์ดราม่า “ซงจีอา”: บทเรียนจาก Consumer เพื่อ Brand และ Influencer

จากเรื่องดราม่าของ YouTuber สาวสวยจากรายการ Single’s Inferno ประเทศเกาหลีใต้ ที่มีการใช้สินค้าไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้าหรือเครื่องประดับ “แบรนด์เนมปลอม” ซึ่งถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ออกอากาศรายการ

Read More »
Comodo SSL