Corporate Sustainability ธุรกิจในวันนี้ จะรุ่งเรืองอยู่คนเดียวไม่ได้

พวกเราคงไม่ได้รู้สึกกันไปเองแน่ๆ ว่าหลายปัญหาในโลกทวีความรุนแรงขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม มลภาวะ โลกร้อน ขยะล้นโลก อย่างมลภาวะ PM 2.5 หมอกพิษที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าซึ่งเดินทางมาถึงหน้าบ้านของทุกคนในประเทศไทย ไหนจะปัญหาสังคม คุณภาพชีวิตและการทำงาน ความเครียดของคนในสังคม จากสถิติพบว่าคนทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 25% มีประสบการณ์เคยปรึกษาจิตแพทย์อย่างน้อย 1 ครั้ง ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ส่งผลกระทบกับความเป็นอยู่และสภาพจิตใจของคนบนโลกมากขึ้นเรื่อยๆ จนจะทำไม่รู้ไม่ชี้กันไม่ได้แล้ว

ทัศนคติของผู้บริโภคย่อมเปลี่ยนไปในทางที่สนใจสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้น ไม่ใช่แค่ในกิจวัตรทั่วไปที่พวกเขาทำ แต่รวมไปถึงเวลาที่พวกเขาจับจ่ายซื้อของก็ไม่ได้มองหาแค่นวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ที่ดีจากแบรนด์เพียงอย่างเดียว แต่ยังมองด้วยว่าแบรนด์นี้สร้างผลกระทบที่ดีต่อโลกอย่างไรบ้าง

(ผู้คนสามารถเข้าถึงประวัติของบริษัทได้ในไม่กี่วินาที ยิ่งส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าสักชิ้นอย่างมาก)

แบรนด์และบริษัทจึงไม่สามารถเอาแต่คิดเรื่องขยายธุรกิจหรือมุ่งเน้นผลกำไรได้อีกต่อไป แต่ต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ที่ล้อมรอบธุรกิจอยู่ด้วยว่าพวกเขาสร้างผลกระทบกับสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้างระหว่างที่กำลังดำเนินธุรกิจไปสู่เป้าหมาย

(อันที่จริงทั้งบริษัทและลูกค้าก็อยู่ในภาชนะเดียวกัน ในมุมหนึ่งจะเรียกว่ามีความรับผิดชอบร่วมกันก็ได้ ในบางตำราธุรกิจก็เปลี่ยนจากคำว่า Customer หรือลูกค้า เป็น Stakeholder หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแทน)

ด้วยเหตุนี้จึงเกิดโมเดลธุรกิจ Corporate Sustainability (ความยั่งยืนขององค์กร) ขึ้น เป็นหลักการว่าด้วย 3 องค์ประกอบ ที่ภาคธุรกิจต้องคิดถึงและดูแลประคับประคองเพื่อสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน หลักการเหล่านี้ต้องถูกบรรจุไว้เป็นเนื้อเดียวกับการพัฒนาองค์กร พัฒนาพนักงาน พัฒนาสินค้าและบริการ ไม่ใช่แค่ดำเนินธุรกิจอะไรไปแล้ว ค่อยมาทำชดเชยหรือทดแทนทีหลัง 3 องค์ประกอบที่ว่า ได้แก่

1. ด้านสิ่งแวดล้อม
บริษัทต้องดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยรู้ว่าการดำเนินธุรกิจของตัวเองสร้างกระทบต่อธรรมชาติอย่างไรบ้างและพยายามก่อมลภาวะให้น้อยลง นำขยะมารีไซเคิล ไปจนถึงอบรมพนักงานให้ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

Adidas เป็นแบรนด์หนึ่งที่โปรโมตเรื่อง Sustainability ด้านสิ่งแวดล้อมมาระยะหนึ่งแล้ว โดยการใช้นวัตกรรมเพื่อเปลี่ยนขยะและวัสดุเหลือใช้กลับมาเป็นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของพวกเขาก็คือคอลเล็กชั่น Primeblue ซึ่งทั้งรองเท้าและเสื้อผ้าออกกำลังกายทุกชิ้น ถูกถักทอขึ้นจากเส้นใย Polyester ที่ได้มาจากการย่อยสลายขยะพลาสติกในทะเล เพื่อให้ลูกค้าที่ซื้อผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ไปใช้รู้สึกว่าตัวเองได้มีส่วนร่วมในการช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติด้วย

(ภาพแสดงการเปลี่ยนขวดพลาสติกกลายเป็นเส้นใยโพลีเอสเตอร์)

(ตัวอย่างรองเท้าในซีรี่ส์ Primeblue)

นอกจากเรื่องนวัตกรรมในสินค้าแล้ว Adidas เปิดเผยว่าพวกเขามีนโยบายลดการใช้พลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้งภายในออฟฟิศ เปลี่ยนถุงช้อปปิ้งตามร้านค้าของแบรนด์เป็นถุงกระดาษ ให้ความรู้กับพนักงานและผู้ที่ทำงานร่วมกับแบรนด์ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการช่วยกันลดการใช้พลาสติก อีกทั้งยังมีจัดแคมเปญให้ลูกค้าได้เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อช่วยกันรณรงค์ลดการใช้พลาสติกทั่วโลกอีกด้วย

(นอกจาก Primeblue แล้ว Adidas ยังมีคอลเล็กชั่นใหม่ ๆ ที่มาพร้อมแนวคิดในการช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในทางใดทางหนึ่ง)

2. ด้านคนและสังคม
ทั้งที่เป็นคนภายในและภายนอกบริษัท ถ้าเป็นคนในบริษัทย่อมหมายถึงอะไรก็ตามที่ทำให้พนักงานของบริษัทมีคุณภาพชีวิตและประสบการณ์การทำงานที่ดี ทั้งจากวิธีการดูแลพนักงานและสวัสดิการที่มีให้ ให้ความมั่นคง ให้ผลตอบแทนที่สมควร มอบโอกาสในการพัฒนาตัวเอง รู้คุณค่าของพนักงานและสิ่งที่พวกเขาทำ ไม่เอารัดเอาเปรียบพนักงานตัวเอง สิ่งเหล่านี้เชื่อมความสัมพันธ์ให้พนักงานรู้สึกดีกับบริษัทเพื่อที่พวกเขาก็จะพูดถึงบริษัทของตัวเองในทางที่ดี และปฏิบัติกับลูกค้าของบริษัทอย่างดีเช่นเดียวกัน

กิจการและทิศทางของบริษัทเองก็มีความสำคัญ หากการดำเนินธุรกิจให้ผลกระทบที่ดีต่อโลกพนักงานก็อาจรู้สึกถึงคุณค่าของการทำงานมากขึ้น อาจตระหนักว่าสิ่งที่ตัวเองทำอยู่เป็นมากกว่างาน เพราะให้ประโยชน์มากกว่าแค่ค่าตอบแทนที่ตัวเองได้รับ แต่ตนได้ทำประโยชน์ต่อโลกและสังคมอีกด้วย นำไปสู่ความตั้งใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่ดีขึ้นอีกขั้น

สำหรับคนภายนอกบริษัท อาทิ Partner, Supplier การที่บริษัทเข้าไปช่วยเหลือเกื้อกูลพวกเขาก็เป็นการสร้างสังคมธุรกิจที่เข้มแข็งไปในตัว แบรนด์ Starbucks เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ดูแล Supplier โดยการนำความรู้และเทคโนโลยีที่ได้จากการศึกษาการปลูกกาแฟทั่วโลกของมาแบ่งปันแก่เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในท้องถิ่น ทั้งแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ที่แข็งแรงและเหมาะสมกับแต่ละสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ ไปจนถึงสนับสนุนงบประมาณในการสร้างไร่กาแฟที่มีคุณภาพและรักษ์โลกเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน ช่วยให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถส่งเมล็ดกาแฟคุณภาพดีให้กับพวกเขาไปได้นานๆ

บริษัทที่ดูแลพนักงานและสังคมที่ตัวเองดำเนินธุรกิจด้วยอย่างดี เกิดชื่อเสียงที่ดี คนก็ให้ความเชื่อถือ คิดว่าเป็นบริษัทที่มีหัวใจ มีความคิด ความเข้าใจ เกิดภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาลูกค้าไปด้วย

3. ด้านผลกำไร
การสร้างกำไรอาจไม่ใช่หัวใจสำคัญหนึ่งเดียวของการดำเนินธุรกิจอีกต่อไป แต่ก็เป็นตราชั่งหนึ่งซึ่งบอกว่าบริษัทกำลังสร้างความยั่งยืนอย่างเหมาะสมตามความเป็นจริงที่บริษัทมีความสามารถทำได้หรือเปล่า ต่อให้บริษัทพยายามผลักดันข้อ 1. และ 2. มากแค่ไหน แต่ถ้าบริษัทไม่มีกำไร ย่อมไม่ใช่การบริหารธุรกิจอย่างยั่งยืน หากบริษัทล้มเหลวในการสร้างผลกำไรแล้ว บริษัทย่อมอยู่ไม่ได้ และความพยายามในการทำตามข้อ 1. และ 2. ก็คงจะต้องพังตามไปด้วยทันที

ในขณะเดียวกันเพื่อความยั่งยืนขององค์กรแล้ว บริษัทก็ต้องบริหารธุรกิจตามความเหมาะสมและมีธรรมาภิบาลด้วย หากเน้นแต่ด้านผลกำไรมากเกินไปไม่สนใจอีก 2 ด้านที่เหลือ ก็หมายความว่าธุรกิจของบริษัทกำลังขาดมโนธรรมบางอย่างอยู่

อย่างในกรณีของบริษัทรถยนต์ Tesla ซึ่งเป็นผู้นำกระแสด้าน Cryptocurrency และเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคซื้อรถยนต์ของพวกเขาด้วยสกุลเงินออนไลน์ได้ มาถึงในปี 2021 ก็ออกมาสวนกระแสและกลืนน้ำลายตัวเอง ไม่รับชำระค่ารถยนต์ด้วย Bitcoin อีกต่อไป เพราะพวกเขาพบว่าแม้ Cryptocurrency จะไม่ได้มีการผลิตธนบัตรออกมา แต่กระบวนการในการผลิตและรักษาระบบไว้จะต้องใช้พลังการประมวลผลจากทั่วโลกสูงมาก ซึ่งหมายถึงกระบวนการที่กินพลังงานไฟฟ้ามหาศาล ชนิดที่บวกลบออกมาแล้วทั้งปีกินพลังงานสูงกว่าปริมาณไฟฟ้าที่สวีเดนหรือมาเลเซียใช้ทั้งประเทศเสียอีก ยังไม่รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้บริหารระบบ Bitcoin จะสร้างขยะ Carbon นับล้านตันให้แก่โลกในอนาคตอีกต่างหาก

นับเป็นกรณีศึกษาหนึ่งจากบริษัทที่กำลังมีทิศทางสร้างผลกำไรและเสียงตอบรับที่ดีจากผู้คน ก็ยอมกลับลำเมื่อพบว่าสิ่งที่ตัวเองกำลังทำก่อผลเสียต่อโลกมากเกินสมควร

และในบางเรื่อง การไม่แสวงหาผลกำไรของบริษัทก็ให้ผลดีกับคนทั้งโลก อย่างในปี 1959 บริษัทรถยนต์ Volvo ออกแบบและผลิตเข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุดขึ้นมาใช้ในรถยนต์ของพวกเขา ซึ่งแม้ Volvo จะเป็นผู้ถือสิทธิบัตรแต่พวกเขาอนุญาตให้ทุกคนนำไปใช้ได้ ความมีมโนธรรมของ Volvo นี้ช่วยรักษาชีวิตผู้คนนับล้านจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมาเป็นเวลามากกว่า 60 ปีมาแล้ว เพราะเข็มขัดนิรภัยแบบนี้ยังคงเป็นแบบที่ดีที่สุด ทั้งใช้งานสะดวก มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง จึงมีใช้ในรถยนต์แทบทุกยี่ห้อมาจนถึงทุกวันนี้ นี่ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่เมื่อพูดถึงเมื่อไหร่ก็ทำให้ผู้คนรู้สึกกับ Volvo ในทางที่ดีเสมอๆ

เหล่านี้ก็เป็นองค์ประกอบของ Corporate Sustainability ที่ทีม UNBOX นำมาเหล่าสู่กันฟัง เผื่อว่าผู้ที่สนใจจะประกอบธุรกิจจะได้นำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตัวเองกันครับ

Contributor

Karn Triamsiriworakul

Learned about reasoning from the school of law but landed job in marketing field to work toward his interest in art and psychology.

Contributor

Share this post with your friends

More Articles

blog
Katina Rinsawasdi

Native Advertising คืออะไร ทำไมเราต้องรู้จัก?

ในยุคที่เทคโนโลยีเติบโตแบบก้าวกระโดด และข้อมูลข่าวสารต่างๆ มีการนำเสนอในรูปแบบต่างๆ มากมาย ทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกที่จะการเสพในสิ่งที่ตัวเองสนใจมากขึ้นในหลากหลายช่องทาง จึงส่งผลให้ประสิทธิภาพของการทำโฆษณาแบบเดิมๆ ลดน้อยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะโฆษณาแบบบังคับไม่ว่าจะเป็น Banner หรือ

Read More »
blog
Karn Triamsiriworakul

ท่องเที่ยวไทย ก่อน-หลัง ยุคโควิดเป็นอย่างไร

การท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญมากๆของประเทศไทย โดยในปี 2019 ก่อน COVID-19 โจมตีทั่วโลก ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกกว่า 32 ล้านคน เป็นเม็ดเงินในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกว่า

Read More »
blog
Jinsiree Palakawongsa Na Ayudthaya

ชวนคุยแสนสิริ กับ Pride Campaign ที่ขับเคลื่อนสังคมด้วยใจ(คน)องค์กร

เข้าสู่เดือนมิถุนายน ซึ่งถือได้ว่าเป็น Pride Month หรือเดือนแห่งการตระหนักถึงความหลากหลายทางเพศ หลายๆองค์กรต่างพากันออกแคมเปญเพื่อแสดงจุดยืนในการสนับสนุน เป็นกระบอกเสียง และร่วมกันขับเคลื่อนสังคมอย่างมีสีสัน หนึ่งในองค์กรที่แสดงจุดยืนทางด้านนี้มาอย่างชัดเจนและต่อเนื่องมากที่สุดองค์กรหนึ่งคือแสนสิริ หนึ่งในผู้นำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของเมืองไทย

Read More »
Comodo SSL