Mood Tone และ Branding

Mood & Tone เป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง Branding

เพราะแบรนด์ไม่ใช่คน ไม่ได้มีรูปพรรณสัณฐาน จึงต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างในการสร้างแบรนด์ให้มีจุดเด่น หรือเกิด Character ที่คนจำได้ นอกจากน้ำเสียง เนื้อหาที่นำเสนอ และทิศทางของการดำเนินการแล้ว Mood & Tone ซึ่งเป็นการแสดงรสนิยมของแบรนด์ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยปั้นจุดเด่นให้กับแบรนด์ได้

ข้อดีของการคุม Mood & Tone
1. เพิ่มมูลค่าของแบรนด์
เวลาที่คนเลือกซื้อสินค้านอกจากดูเรื่องคุณภาพและราคาแล้ว ก็มีเรื่องอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะผู้ซื้อแต่ละคนอยากได้สินค้าไปใช้แสดงภาพลักษณ์และรสนิยมของตัวเอง การคุมโทนสร้างภาพลักษณ์ที่ชัดเจนให้กับแบรนด์ จึงทำให้แบรนด์จับอารมณ์ของผู้ซื้อได้มากขึ้น ผู้ซื้อจะนึกภาพตามได้ง่ายว่าถ้าเอาสินค้าของแบรนด์ไปใช้แล้ว พวกเขาจะมีภาพลักษณ์อย่างไร จะรู้สึกอย่างไรเมื่อใช้แบรนด์นี้

นอกจากนี้ การคุมโทนยังทำให้แบรนด์ดูมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น เพราะแสดงว่าแบรนด์มีวินัยและความสม่ำเสมอในการทำสินค้าและนำเสนอโฆษณาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ยิ่งคุมโทนได้ดียิ่งสะท้อนความปราณีตและความตั้งใจที่ดีในการสร้างสรรค์สินค้าและบริการให้แก่ลูกค้า

2. ง่ายต่อการทำโฆษณา
ทำให้หน้า Profile ของแบรนด์บน Social Media ดูมีระเบียบ มีทิศทาง เกิดโดดเด่นน่าติดตามขึ้นมา และยังสะดวกต่อการทำโฆษณาอีกด้วย เพราะสีและการจัดวางที่เป็นเอกลักษณ์ของเราจะสะดุดตาคนที่เคยผ่านตาแบรนด์ของเราแล้วได้ง่าย

(Starbucks นางเงือกสีเขียวและขาวที่กลายเป็นตัวแทนของการมีคุณภาพชีวิตที่ดี คล้ายเป็นสัญลักษณ์ของ Upper-Middle Class ไปแล้ว เพราะเป็นคนกลุ่มที่กำลังรีบเร่งทำงาน ต้องการความสะดวก และมีเงินสำหรับใช้ซื้อความสะดวกเหล่านั้นได้)

ประเภทของการคุม Mood & Tone
– คุมประเภทภาพที่ถ่าย เช่น เน้นถ่ายคน วิวทิวทัศน์ หรือสิ่งของ
– คุมโทนสีที่ใช้ เช่น สีขาวดำ, อบอุ่น, สีสดใส หรืออาจมีสีบังคับที่ต้องมีในทุกรูปก็ทำให้รูปทั้งหมดดูกลมกลืนไปด้วยกันได้
– คุมองค์ประกอบภาพ เช่น Minimal, Energetic, Street

ทีม UNBOX ขอนำ Instagram ที่โดดเด่นเรื่องการคุมโทนภาพมาให้ดูกันเป็นตัวอย่าง

บุคคลทั่วไป

Instagram @f1stfaloo ภาพไลฟ์สไตล์และการท่องเที่ยวที่โทนออกไปทางสีขาวสะอาดตา แซมสีสดใสที่ทำให้ภาพดูร่าเริง แม้แต่ร้าน 7-11 ก็ยังมีมุมที่ดูคิกขุไปด้วย แบรนด์ไหนที่อยากได้ภาพโทนนี้เก็บไว้โฆษณาคงต้องปรึกษาเขา

Instagram @beam_ster คอลเล็กชั่นสไตล์มินิมอลที่สร้างขึ้นบนความรักกาแฟและความสนใจในการสร้างแบรนด์ของร้านกาแฟต่าง ๆ เจ้าของแบรนด์กาแฟก็คงอยากจะขอมา Feature บนหน้า Profile ของเขา

แบรนด์

Instagram @merrezca_official สีแดง สีของพลังอำนาจ ความรัก และความลุ่มหลง ซึ่ง Merrezca เครื่องสำอางไทยก็เหมาโทนแดงนี้ไปใช้กับผลิตภัณฑ์และการโฆษณาของพวกเขา แม้แต่ฉากพื้นหลังของเครื่องสำอางหรือเสื้อผ้าของนางแบบ ก็ยังอมแดง ส้ม หรือชมพู ทำให้ลูกค้ารู้ได้ทันทีว่าแบรนด์ของพวกเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญโทนสีแดงและถ้าจะมองหาเครื่องสำอางโทนแดง ทำไมจะไม่ลองให้โอกาสพวกเขาดูล่ะ

Instagram @prontodenim ร้าน Pronto ชูจุดเด่นร้านของเขาที่พวกเขาเป็นนักคัดสรร “แบรนด์ที่มีเรื่องราว” (Heritage) ทุกแบรนด์ที่ Pronto เลือกมาขายที่หน้าร้านนั้นต้องมีประวัติการสร้างแบรนด์และผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ เช่น เสื้อผ้าประดับด้วย Tag จากโรงงานสมัยสงครามโลก หรือยีนส์ถักด้วยเครื่องจักรที่สืบทอดกันมาในครอบครัวมากว่า 50 ปี เป็นต้น ภาพของ Pronto จึงมักจะโฟกัสที่รายละเอียดของไอเทมแต่ละชิ้น เพื่อให้เห็นความพิถีพิถันและดีเทลที่แต่ละแบรนด์บรรจงใส่มาในเสื้อผ้า เครื่องประดับ หรือกระเป๋าของพวกเขา โทนภาพที่ Pronto ใช้ก็ออกไปโทนเข้มแบบสุภาพบุรุษมีความสุขุมลุ่มลึก

อุปกรณ์ที่ใช้คุมโทนภาพ
1. ฟิลเตอร์จากแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ
เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด คือ ครอบรูปด้วยฟิลเตอร์ใดฟิลเตอร์หนึ่งไปเลย เพื่อให้ฟิลเตอร์ดึงสี ความเข้ม และปรับโทนแสงให้เหมือนๆ กัน ทั้งนี้ก็อาจจะคุมโทนได้ไม่สุด เพราะยังมีปัจจัยเรื่องรูปถ่ายตั้งต้นที่ถ่ายมามีแสง มีสีในรูปแตกต่างกันไป ก็ต้องพึ่งการแต่งภาพด้วยตัวเองเข้ามาช่วยให้สีของแต่ละรูปใกล้เคียงกันมากขึ้น

(ตัวอย่างฟิลเตอร์ของแอปฯ VSCO.CAM)

2. ความเข้มสี (Contrast)
สีในแต่ละรูปอาจมีความหลากหลายมาก แต่การปรับค่าสีและความคมชัดให้เท่าๆ กัน ก็ทำให้ภาพดูมีความเป็นไปในทิศทางเดียวกันได้ด้วย ซึ่งไม่ควรมองข้ามการกำหนดค่าสีขาว-ดำสำหรับแบรนด์เรา เพราะเป็นขอบสุดของสีที่เราใช้ ว่าจะใช้สีดำมืดสนิทที่เท่าไหร่ และขาวสว่างที่สุดจะอยู่ที่เท่าไหร่ การใช้อุปกรณ์เดียวกันในการถ่ายภาพทุกภาพก็ทำให้ได้รูปที่มีค่าสีใกล้เคียงกันออกมาและง่ายต่อการปรับสีด้วย

(ภาพจาก Instagram.com/joez19 ใช้ iPhone ถ่ายภาพเท่านั้น สีและความคมชัดของภาพที่ได้จึงมีความคงที่และนำไปปรับต่อได้สะดวกขึ้น)

3. Mood Board
จัด Mood & Tone สำหรับแบรนด์ของเราใส่บอร์ดไว้ เมื่อมีงานถ่ายทำใหม่ๆ ก็นำมาเทียบกับภาพหรือแถบสีใน Mood Board นี้ว่าไปกันได้หรือไม่ ซึ่งการจัด Mood Board อาจมีองค์ประกอบได้หลากหลาย เช่น ฟอนต์, สภาพพื้นผิว, สีแพนโทน, ภาพถ่ายที่แสดงบรรยากาศ ลองใช้ Template จากเว็ปไซต์ อาทิ Canva.com หรือ Adobe ในการสร้าง Mood Board ของเราได้ทันที

(ภาพจาก Canva.com)

Contributor

Karn Triamsiriworakul

Learned about reasoning from the school of law but landed job in marketing field to work toward his interest in art and psychology.

Contributor

Share this post with your friends

More Articles

blog
Jinsiree Palakawongsa Na Ayudthaya

ว่าด้วยเรื่องตัวตนบนโลก Online กับ Self-Presentation

เคยสังเกตกันไหมคะว่าทำไมเพื่อนๆบน Facebook Instagram เขาชีวิตดีกันจัง หรือคุณเองหรือเปล่าที่เคยใช้เวลาในการเลือกภาพที่ดีที่สุด พร้อมแต่งภาพของตนเองผ่านหลายๆ App เพื่ออัพลง Social รอเพื่อนมากดLike

Read More »
Comodo SSL