ทางเลือกสายแฟชั่น ดีต่อโลก และดีต่อใจ

จากกระแส #wearวนไป ของครูลูกกอล์ฟ-คณาธิป สุนทรรักษ์ ที่ขึ้นมาจุดกระแสส่งเสริมการใส่เสื้อผ้าที่เรามีอยู่วนซ้ำ อย่าง Mix and Match ให้สนุกสนาน และลดการซื้อเสื้อผ้าใหม่จากความเชื่อที่ว่าการใส่ซ้ำเป็นสิ่งน่าอาย จึงทำให้เกิดการถกเถียงและตั้งคำถามกับอุตสาหกรรมแฟชั่นและผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม วันนี้ทาง UNBOX จึงขอสรุปย่อเรื่องราวเกี่ยวกับวงการแฟชั่น ผู้เสพแฟชั่น และความพยายามในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่มีตลอดมา ทั้งในมุมของแบรนด์ และผู้บริโภค

(#wearวนไป ของคุณลูกกอล์ฟ ที่อยากให้ประเด็นนี้เป็นเรื่องปกติ มากกว่าเรื่องของกระแสชั่วครั้งชั่วคราว
ที่มา: IG @loukgolflg)


จากการศึกษาผลกระทบของวงการแฟชั่น ตั้งแต่ขั้นตอนการสรรหาวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง ตลอดจนการใช้และการทำลายทิ้ง การผลิตเสื้อผ้าในครั้งหนึ่งนั้นใช้น้ำและสารเคมีในปริมาณที่มาก และก่อให้เกิดมลภาวะทางน้ำ หลายโรงงานจึงพยายามหาทางลดการใช้น้ำในขั้นตอนการผลิต รวมถึงบริหารระบบการบำบัดน้ำเสียให้ได้ดีที่สุด ทั้งนี้ในการสรรหาวัตถุดิบเพื่อการผลิตนั้นในบางครั้งการปลูกเส้นใยต่างๆ จะนำมาซึ่งการใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง และสารพิษต่างๆ อันซึมลงสู่ดินและเป็นอันตรายต่อคนและสัตว์ และที่สำคัญที่สุดนั้นเมื่อเสื้อผ้าเข้ามาอยู่ในตู้เราแล้วถึงเวลาที่เราไม่ต้องการจะสวมใส่มันอีก ก็จะเป็นขยะทิ้งจากครัวเรือน ที่ยากจะจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ (อ่านเพิ่มเติมที่นี่)
จากสาเหตุดังกล่าว ผู้บริโภคในยุคปัจจุบันจำนวนมากต่างตระหนักถึงผลกระทบของวงการแฟชั่นที่มีต่อสิ่งแวดล้อม จึงเกิดความตื่นตัวด้านแนวคิดการบริโภคแฟชั่นเพื่อความยั่งยืน ทั้งในมุมแบรนด์ ผู้ผลิต และผู้บริโภคเอง ซึ่งนอกจากรูปแบบการใช้ซ้ำแบบ #wearวนไป ของคุณลูกกอล์ฟแล้ว ยังมีรูปแบบของแฟชั่นที่ดีต่อโลกและดีต่อใจอีกหลายวิธีการ แต่ทั้งนี้ ไม่มีรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งที่ดีที่สุด และรักโลกได้อย่าง 100%

บทความ UNDERSTANDING SUSTAINABLE FASHION, AND WHAT IT MEANS TO YOU จากเว็บไซต์ SUSTAINABLE FASHION MATTERZ จึงได้นำเสนอรูปแบบการบริโภคสินค้าที่ดีต่อโลก พร้อมนำเสนอข้อดีข้อเสียแต่ละรูปแบบ โดยในบทความนี้ ได้นำมากล่าวถึงเคสจริงที่เกิดขึ้นในไทย หรือนำมาอธิบายร่วมกับแบรนด์ที่เราน่าจะรู้จักกันดี ดังต่อไปนี้ค่ะ

1. การแลกกันใส่ (Clothing Swap)
เป็นวิธีที่น่ารักและเก๋ที่สุดวิธีหนึ่ง เพราะการแลกเสื้อผ้ากันใส่จะทำให้คุณได้เสื้อผ้าใหม่ ในขณะที่เสื้อผ้าเก่าก็มีเจ้าของใหม่ เรียกว่าไม่เกิดขยะใดๆ เลยจากการทิ้งเสื้อผ้า และเป็นการประหยัดการผลิตเสื้อผ้าใหม่ถึง 2 ชิ้นด้วยกัน
แต่การแลกกันใส่นั้นก็ไม่ใช้เรื่องที่ง่ายมากนัก เพราะในการจัดการให้มีชุมชนการแลกและการหาคนที่ทั้งไซส์และสไตล์ตรงกับเรา รวมถึงเรื่องมูลค่าการแลกนั้นอาจเป็นเรื่องที่แมตช์กันได้ยาก
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยก็ได้เริ่มมีการผลักดันกิจกรรมดังกล่าว เช่นการจัดงาน Clothes Swap ของ Fashion Revolution Thailand team รวมถึงได้มีโครงการอื่นๆ อย่างต่อเนื่องเสมอมา (ศึกษาต่อที่นี่)

2. การซื้อขายเสื้อผ้ามือสอง (Second Hand)
เป็นวิธีการเบสิกที่รู้จักกันดีตั้งแต่โบราณนานมา และทำให้เราได้เสื้อผ้าที่สวยถูกใจในราคาที่อาจจะลดลงมากกว่าครึ่ง แต่อาจไม่เอื้ออำนวยในช่วงสถานการณ์โควิดเช่นนี้ในเรื่องความไว้ใจในความปลอดภัย รวมถึงบางกระแสวิจารณ์ที่กล่าวว่าการซื้อเสื้อผ้ามือ 2 ในปริมาณมากนั้นก็เป็นการเร่งการเกิดการผลิตเสื้อผ้าใหม่อยู่ดี

3. Slow Fashion
Slow Fashion คือคำตรงข้ามของ Fast Fashion อันแปลว่าเสื้อผ้าที่ผลิตและจำหน่ายเร็ว เพื่อส่งต่อให้ผู้บริโภคสวมใส่ได้อย่างทันกระแส และแน่นอนว่า Fast Fashion นั้นมาเร็วไปเร็ว Slow Fashion จึงเป็นแนวคิดตรงกันข้ามที่เน้นให้ผู้บริโภคสวมใส่เสื้อผ้านั้นอย่างบ่อยครั้งและมีคุณภาพดี คงทนที่สุด ทั้งนี้ Slow Fashion จึงหมายรวมถึงความยั่งยืนในมิติอื่นๆ เข้ามาด้วย เช่นการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้เสื้อผ้าที่ผลิตในท้องถิ่นเพื่อลดการขนส่ง และตัววัตถุดิบเองที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติเป็นต้น
แต่ทั้งนี้ Slow Fashion นั้นอาจจะไม่เหมาะกับคนที่เบื่อง่าย ต้องมีเสื้อผ้าไว้ทำงานในหลายโอกาส และในบางครั้งเสื้อผ้าที่คงทนถาวร ใช้ได้ดีในหลายโอกาสจริงๆนั้นอาจจะมีมูลค่าที่สูงก็เป็นได้

4. เสื้อผ้าที่มีขั้นตอนการผลิตอย่างเป็นธรรม (Fair Fashion)
เป็นขั้นตอนที่ผู้บริโภคนั้นตรวจสอบได้ยากว่าในความเป็นจริงนั้นแบรนด์เสื้อผ้าที่เราเลือกซื้อนั้นมีความเป็นธรรมต่อพนักงาน สตาฟผู้ผลิตจริงหรือไม่ การมอบมาตรฐานและโฆษณามาตรฐานความเป็นธรรมต่างๆ ต่อพนักงานนั้นเป็นไปอย่างบริสุทธิยุติธรรมดีหรือไม่
แต่ถึงอย่างไรก็ตามการเลือกซื้อเสื้อผ้าที่สร้างความตระหนักต่อการเป็นธรรมเหล่านี้ ก็นับเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเคลื่อนไหวของผู้บริโภค ที่ชี้ให้สังคมและแบรนด์อื่นๆ ได้เห็นว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญส่วนหนึ่งในการตัดสินใจซื้อเช่นกัน

5. เสื้อผ้าที่ไม่ต้องเบียดเบียนสัตว์ (Vegan)
ซึ่งสำหรับประเทศไทยนั้น ด้วยอากาศที่ร้อนอบอ้าวเสื้อผ้าขนสัตว์จึงไม่เป็นที่นิยมอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ในตระกูล Accessories เช่นกระเป๋านั้น ก็ยังมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องเสมอมา

แต่ทั้งนี้การซื้อหนังสังเคราะห์ที่ทดแทนหนังสัตว์ ก็อาจมีขั้นตอนการผลิตที่สร้างสารเคมีต่อสิ่งแวดล้อมอยู่ดี การซื้อที่ดีที่สุดจึงเป็นการซื้อให้เพียงพอต่อความจำเป็น และใช้งานได้อย่างยาวนาน

6. แบรนด์ที่ผลิตในท้องถิ่น (Local Production)
แน่นอนว่าการผลิตที่ใกล้บ้านเราที่สุดก็จะทำให้การขนส่งนั้นน้อยที่สุด และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์ได้มากที่สุด ซึ่งข้อดีคือประเทศไทยนั้นมีโรงงานการผลิตเสื้อผ้ามาก จึงไม่ยากที่เราจะตรวจสอบหาเสื้อผ้าที่ Made in Thailand ได้ แต่ความยากนั้นคือเราอาจจะสืบทราบได้ยากอยู่ดีว่าการผลิตในไทยนั้นมีที่มาจากการขนส่งวัตถุดิบ หรือมีขั้นตอนอื่นๆ ในต่างประเทศหรือไม่

7. แต่งให้น้อย (Minimalism)
คำว่าน้อยในที่นี้ อาจจะไม่ได้แปลว่าน้อยชิ้นเสมอไป แต่อาจจะแปลว่าการแต่งตัวอย่างเรียบง่าย ไม่ต้องประดับตกแต่งหรือมีความหลากหลายมาก หรืออาจจะมีจำนวนชิ้นในตู้หลากหลายแล้วใส่วนไปวนมาเหมือน #wearวนไป ก็ได้ ดังนั้นแนวคิดนี้จึงมีความหลากหลาย บนพื้นฐานของการบริโภคให้น้อย ซื้อให้น้อยนั้น ดีที่สุด

8. ใช้ผ้าฝ้ายแท้ (Organic Cotton)
เป็นที่เดากันได้ว่าการผลิตเสื้อผ้าใยสังเคราะห์นั้นน่าจะเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม เพราะใช้ส่วนประกอบของสารเคมีสูง ดังนั้นจึงมีอีกหนึ่งแนวคิดว่าการใช้ผ้าฝ้ายแท้นั้นน่าจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า แต่ถึงอย่างไรก็ตามการปลูกฝ้ายและแปรรูปฝ้ายนั้น ก็ยังใช้น้ำในปริมาณที่มากอยู่ดี


9. เสื้อผ้าจากวัสดุรีไซเคิล (Recycled Materials)
เป็นสิ่งที่หลายแบรนด์ในไทยเริ่มตระหนักถึง แต่ในขั้นตอนการผลิตนั้นการรีไซเคิลก็ต้องใช้พลังงาน ซึ่งในบางครั้งอาจจะมากกว่าเสื้อผ้าที่ผลิตใหม่เสียด้วยซ้ำ ดังนั้นการซื้อเสื้อผ้าจากวัสดุรีไซเคิลก็ควรใช้ให้ยืนยาวมากที่สุด เพื่อให้ลดการใช้พลังงานในการรีไซเคิลครั้งใหม่ รวมไปถึงการเลือกซื้อเสื้อผ้าที่ง่ายต่อการรีไซเคิล เช่นเสื้อผ้าที่ผลิตจากวัตถุดิบแบบ 100% (ไม่ใช่แบบผสมหลายๆ ประเภทเส้นใยเข้าด้วยกัน เพราะไม่สามารถแยกเส้นใยได้)

จากข้อความข้างต้น จึงเห็นได้ว่าไม่มีวิธีใดที่จะเป็น Sustainable Fashion 100% แต่ในมุมแบรนด์นั้นก็สามารถจะทำหลายๆ อย่างไปพร้อมกันได้โดยไม่ต้องเลือกวิธีใดวิธีหนึ่ง เช่นแบรนด์ Stellar McCartney ที่ได้ริเริ่มการงดใช้หนังสัตว์มาตั้งแต่ปี 2001 จนได้มีการพัฒนาขั้นตอนการผลิต และปรับปรุงรูปแบบของวัตถุดิบให้ดีต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง (อ่านต่อที่นี่)

สำหรับในไทยนั้นมีหลายแบรนด์ที่เริ่มตื่นตัวต่อกระแสสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ เช่นเสื้อยืดของ Madmatter Studio แบรนด์สัญชาติไทยที่ผลิตเสื้อยืดจาก Deadstock Cotton (ผ้าเผื่อเสียจากโรงงาน) ทำให้การผลิตสินค้าจากทางแบรนด์ได้มีการลดผลิตวัตดุดิบที่ใช้น้ำ สร้างคาร์บอนไดออกไซต์ และการใช้ปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลงไปได้อย่างมหาศาล หรือแม้แต่แบรนด์ใหญ่อย่าง Pomelo เอง ก็ได้ออกคอลเลคชั่น Purpose By Pomelo มาตั้งแต่ปี 2019 ซึ่งเป็นเสื้อผ้าที่พยายามใช้การผลิตอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยั่งยืนมากขึ้นด้วย

(เสื้อจากแบรนด์ Madmatter Studio Instagram @ madmatterstudio)

สำหรับในมุมผู้บริโภคนั้น ก็ไม่มีวิธีใดที่จะลดการทำร้ายโลกได้อย่าง 100% เช่นกัน แม้แต่การ #wearวนไป นั้นการซักผ้าก็ย่อมก่อให้เกิดสารพิษต่อสิ่งแวดล้อม อาทิเศษไมโครไฟเบอร์ และสารพิษจากผงซักฟอก แต่ถึงอย่างไรก็ตามการ #wearวนไป ก็ช่วยให้ประหยัดในขั้นตอนการผลิตและการขนส่งได้หลายส่วน รวมถึงในการซักผ้านั้นเรายังสามารถเลือกผงซักฟอกที่ Eco-friendly ได้อีกด้วย ดังนั้นแล้วหากเราอยากจะเลือกสวมใส่เสื้อผ้าให้ดีต่อใจ และดีต่อโลก ก็สามารถเลือกใช้วิธีให้เหมาะสมกับ Lifestyle เรา หรือจะประยุกต์ข้อทั้งหมดนี้ผสมผสานกันตามความสบายใจ และรูปแบบอาชีพการงานของเราก็ได้

Contributor

Share this post with your friends

More Articles

blog
Pichapen Sorum

การลงทุนไปกับการออกแบบ (Design) จะทำให้แบรนด์กอบโกยรายได้ที่คุ้มค่าต่อการลงทุนอย่างไร?

(บทความนี้แปลและดัดแปลงจากต้นฉบับภาษาอังกฤษที่เขียนโดย Doug Main เผยแพร่ผ่านเวปไซต์ MarketingTech วันที่ 8 กันยายน 2020) หลายองค์กรมองว่าการออกแบบเป็นค่าใช้จ่ายส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นมา

Read More »
blog
Pichapen Sorum

เมื่ออเมริกาแบน WeChat คนจีนบางส่วนจึงหันไปใช้ Signal แอปส่งข้อความแบบเข้ารหัสจากต้นทางถึงปลายทาง

(บทความนี้แปลและดัดแปลงจากต้นฉบับภาษาอังกฤษที่เขียนโดย Kevin Collier เผยแพร่ผ่านเวปไซต์ CNBC วันที่ 8 สิงหาคม 2020) เมื่อประธานาธิบดี

Read More »
Comodo SSL