เมื่อการกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ เหนื่อยล้ากว่าที่คิด

หลายๆ ออฟฟิศเริ่มให้พนักงานกลับไปทำงานปกติ หลังจาก Work from Home กันมาติดต่อกันหลายเดือน แต่น่าแปลกใจว่าหลายคนกลับมีอาการเหนื่อยล้าเมื่อต้องกลับมาทำงาน และไม่ได้โหยหาการกลับเข้าออฟฟิศมาเจอเพื่อนร่วมงานอย่างที่คิด
ทีมงาน UNBOX จึงได้แปลส่วนหนึ่งของงบทความ Don’t Let Returning to the Office Burn Out Your Team เขียนโดย Rahaf Harfoush จาก Harvard Business Review (สามารถอ่านต้นฉบับได้ที่นี่) ซึ่งให้หลักคิดทางจิตวิทยา และวิธีปฏิบัติที่จะทำให้การกลับมาทำงานที่ออฟฟิศนั้นมีความดีต่อใจ อย่างค่อยเป็นค่อยไป หัวหน้าทีม หรือเจ้าของบริษัทท่านใดที่รู้สึกว่าพนักงานมีความรู้สึกไม่สดชื่นเวลาได้กลับไปทำงานที่ออฟฟิศ ลองพิจารณาข้อเหล่านี้ได้ค่ะ

โดยภาพรวมแล้วในการกลับไปทำงานหลังจากช่วง Work from Home อันยาวนานนั้น นักจิตวิทยาแนะนำว่าควรทำให้การกลับมาทำงานและพบปะสังคมที่ทำงานนั้นควรค่อยเป็นค่อยไป McKinsey เผยว่า 1 ใน 3 ของพนักงานกล่าวว่าการกลับมาทำงานที่ออฟฟิศนั้นทำให้พวกเขารู้สึกไม่ค่อยสบายใจ เครียด และเป็นกังวลเกี่ยวกับการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงาน และการเข้าร่วมกิจกรรมขององค์กรในรูปแบบต่างๆ ตัวอย่างเช่น เกือบ 40% ของพนักงานนั้นมีความปรารถนาจะลาออกหากทางบริษัทบังคับให้กลับเข้ามาทำงานเต็มเวลา ซึ่งโดยส่วนมากนั้นเป็นพนักงานที่อายุยังไม่มากนัก

ดังนั้นแล้วการจะบังคับให้คนกลับมาทำงานอย่างแข็งขันทันที 100% นั้นคงไม่ใช้เรื่องที่ดีต่อใจสำหรับพนักงานบางส่วนนัก โดยหัวหน้างานควรให้ความใส่ใจ และสังเกตเหล่าพนักงานเป็นพิเศษ และให้ระยะเวลาพวกเขาได้ปรับตัว โดยผู้เขียนบทความ Rahaf Harfoush ได้เสนอแนะวิธีการในการดูแลพนักงานดังต่อไปนี้

1. ให้การเข้าสังคมต่างๆ เป็นไปอย่างช้าๆ
การกลับเข้าไปทำงานในช่วงแรกนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานรู้สึกทุกอย่างถาโถมเข้ามาอย่างรวดเร็วมากเกินไป อาจจัดให้มีกิจกรรมที่ต้องรวมกลุ่มกันทางสังคมทีละน้อยๆ ช้าๆ หรืออาจมีทางเลือกให้คนที่ยังไม่พร้อมสำหรับการสังสรรค์ Dawn Potter นักจิตวิทยาคลินิกกล่าวว่า ต้องยอมรับว่าสำหรับคนบางคนนั้นการสังสรรค์นั้นต้องใช้พลังงานที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต้องพยายามเข้าสังคมหลังจากที่ไม่ได้คุ้นชินกับสภาวะแวดล้อมเหล่านี้มานาน เคยมีตัวอย่างว่ามีบริษัทหนึ่งที่จัดงานปาร์ตี้ต้อนรับพนักงานในแผนกกว่า 300 ในวันที่กลับมาทำงาน ส่งผลให้พนักงานบางคน (ผู้ให้ข้อมูล) เกิดความรู้สึกเครียด และเป็นกังวลกับการเข้าสังคมมากกว่าจะสนุกสนานกับงานปาร์ตี้นั้น

2. สร้างกระบวนการความเข้าใจในทีม
บริษัท หรือทีม อาจต้องจัดทำช่วงเวลาที่ให้พนักงานได้มาเปิดอกแชร์ความรู้สึกอย่างสบายใจ เพื่อเป็นการผ่อนคลาย ได้ระบาย และเปิดเผยความรู้สึกต่อการทำงานในบริษัท ซึ่งหากทำถูกวิธีนั้นอาจก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดี และส่งผลที่ดีต่อการปรับตัวในการทำงานของทั้งทีมได้ ตัวอย่างเช่นบริษัท ZenDesk ได้จัดกิจกรรม Empathy circles ที่ให้พนักงานได้มาล้อมวงแชร์ และรับฟังความรู้สึกซึ่งกันและกัน ซึ่งส่งผลให้พนักงานเกิดความรู้สึกเชิงบวก และเกิดความรู้สึกปลอดภัยในการทำงานมากยิ่งขึ้น

3. ทบทวนบทบาทหน้าที่ในการทำงาน
ในช่วงโควิดนั้นหลายบริษัทเกิดการปรับบทบาทหน้าที่การทำงานของพนักงาน โดยบางส่วนมักจะได้รับมอบหมายงานที่เกิดจากบทบาทหน้าที่ที่มีมาแต่เดิม ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถก่อให้เกิดอาการ Burn Out ในพนักงานได้ ดังนั้นจึงควรกลับมาตรวจสอบว่าหน้าที่ใดที่เกิดในช่วงโควิดนั้นจะกลายเป็นหน้าที่ถาวรของพนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ หรือหน้าที่ใดที่ควรสิ้นสุดหายไป เพื่อทำให้พนักงานมีขอบเขตการทำงานที่ชัดเจน และสามารถระบุได้ว่าทักษะใดที่ควรพัฒนาเพื่อเป็นหน้าทีที่ถาวรต่อไป

4. สร้างพื้นที่สำหรับการทำงานที่ใช้สมาธิสูง (Deep work)
ปฏิเสธไม่ได้ว่าโควิดทำให้ผู้คนทำงานผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลมากยิ่งขึ้น ผลการสำรวจประชากรว่า 3.1 ล้านคนพบว่าผู้คนเป็นจำนวนมากที่ใช้เวลาในการตอบอีเมลหรือประชุมมากขึ้นเฉลี่ย 1 ชั่วโมงต่อวัน แต่ถึงอย่างไรก็ตามการทำงานเหล่านี้นั้นจะถูกรบกวนโดยเหล่า Notifications ต่างๆ ในแทบจะทุกๆ 3 นาที แล้วยังใช้เวลาเฉลี่ย 23 นาทีกว่าจะกลับมาโฟกัสที่กิจกรรมเดิมได้ ซึ่งนักวิเคราะห์กล่าวว่าการรบกวนเหล่านี้นั้นเป็นมูลค่าราว 588 พันล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว

ดังนั้นแล้ว หลายบริษัทใหญ่ในระดับนานาชาติ เช่น Facebook, AirBnB และ Asana จึงได้กำหนดวันที่จะไม่มีการประชุมขึ้น เพื่อที่ให้คนได้โฟกัสกับงานของตนเองอย่างเต็มที่ หรือบริษัทอื่นๆ ต่างก็มีนโยบายที่แตกต่างกันไป แต่ก็ล้วนเพื่อให้พนักงานได้ Productive ต่องานที่ใช้สมาธิมากขึ้นด้วยกันทั้งนั้น หรือบางทีหากบริษัทของเราไม่สะดวกต่อการกำหนดเป็นวันเช่นนี้ อาจจะใช้วิธีลองพิจารณาตัดการประชุมที่ไม่จำเป็นสำหรับพนักงานบางคนออกไปก็ได้ เพื่อให้เขามีเวลาทำตัวเนื้องานของเขาที่แท้จริงบ้าง

5. ให้เวลาพนักงานได้พื้นฟูจิตใจมากขึ้น
มีบริษัทในระดับโลกเป็นจำนวนมากที่ให้เวลาพนักงานได้มีวันหยุดยาวมากขึ้น โดยผลวิจัยชี้ชัดว่าพนักงานที่ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอนั้น มีประสิทธิภาพในการเรียนรู้และการทำงานมากกว่าพนักงานที่พักผ่อนไม่เพียงพอ โดยการพักนั้นอาจต้องเป็นระยะยาวถึงระดับสัปดาห์ หรือในบางบริษัทนั้นเป็นหลักเดือนก็ยังมี ทั้งนี้ เราอยู่ในโลกที่ธุรกิจต่างๆ หมุนไปด้วย Speed อันรวดเร็ว ซึ่งบีบบังคับให้เราต้องกลายเป็นคนที่ Productive อยู่ตลอดเวลา แต่การ Productive นั้นจะเกิดขึ้นได้ยากหากคนทำงานรู้สึกเหนื่อยล้า ไร้การพักผ่อน การได้พักบ้างจึงเป็นอีกหนึ่งหนทางที่ทำให้พนักงานสามารถกลับมาทำงานได้อย่างสดชื่น และมีพลังมากยิ่งขึ้น


จากบทความ Don’t Let Returning to the Office Burn Out Your Team ข้างต้นนี้ เมื่อผู้เขียนได้นำไปสอบถามกับคนรอบตัวหลายคน ที่ต้องกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ ก็พบว่าเหล่าพนักกงานออฟฟิศหลายคนประสบปัญหาความหน่วง ความเอื่อย ความเสพติดการทำงานที่จัดการชีวิตได้เรียบง่ายขึ้นในช่วง Work from Home บางคนถึงขั้นตัดสินใจลาออกเมื่อต้องกลับไปทำงานที่ออฟฟิศเต็มรูปแบบเหมือนเดิม แต่หลายคนก็มีความยินดีที่จะได้กลับไปเจอเพื่อนร่วมงาน และต้องยอมรับว่าการประสานงานบางรูปแบบนั้น การเจอกันซึ่งหน้าอาจมีประสิทธิภาพมากกว่าเยอะ

แต่เมื่อพูดคุยกับหลายออฟฟิศ ยังเกิดการผสมผสานระหว่างการ Work from Home และการออกนอกบ้าน เช่นในวันที่ไม่มีกิจกรรมสำคัญ อาจให้พนักงานทำงานที่บ้านเป็นปกติ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มระยะห่างทางสังคมตามจำเป็น แต่หากมีกิจกรรมหรือมีการนัดหมายทางธุรกิจที่สำคัญก็สามารถให้ออกนอกบ้านได้ตามสมควร ซึ่งกลายเป็นรูปแบบที่พนักงานหลายคนรู้สึกพึงพอใจ แต่ในมุมนายจ้างแล้ว การจัดการเช่นนี้อาจจะต้องอาศัยทักษะการบริหารทีมที่มากขึ้นสักหน่อย มิเช่นนั้นพนักงานอาจรู้สึกสับสน และอาจรู้สึกไม่เป็นธรรมหากการบังคับออกจากบ้านนั้นมีความไม่เท่าเทียมกัน

อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญที่สุดที่บทความฉบับนี้ระบุไว้คือ หัวหน้างาน หรือเจ้าของบริษัทควรหมั่นสังเกตความรู้สึกของพนักงาน และต้องพึงตระหนักว่าไม่ใช่พนักงานทุกคนที่จะเร่งเครื่องกลับมาได้ที่ออฟฟิศตามปกติ ดังนั้นแล้วการค่อยๆ ทำ ค่อยๆ สังเกต จึงเป็นสิ่งที่ปลอดภัยมากที่สุด

Contributor

Share this post with your friends

More Articles

blog
Jinsiree Palakawongsa Na Ayudthaya

ลองเล่น Spatial.io ลุย Metaverse ที่ใช้งานได้ง่ายสำหรับทุกคน

กระแส Buzzword  คำว่า Metaverse ที่เริ่มมาตั้งแต่เมื่อปลายปีที่แล้ว ดูเหมือนว่าจะยังไม่จางหาย แต่กลับมีลูกเล่นใหม่ๆ และเป็นที่นิยมพูดถึงในวงการสื่อสารการตลาดมากยิ่งขึ้น แบรนด์ต่างๆ เริ่มตื่นตัวและเริ่มมีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน

Read More »
blog
Nisara Sittatikarnvech

Scan Text ประเมินความเสี่ยงโควิด…รู้ไหมว่าเราสามารถทำ 5 อย่างสุดล้ำนี้บน LINE ได้

ถ้าเรียกคนมายืนรวมกัน 100 คนแล้วให้เปิดมือถือขึ้นมา 94 ใน 100 คนนั้นจะต้องมี Application LINE อยู่ในเครื่องแน่นอน

Read More »
Comodo SSL