เปรียบเทียบเครื่องมือสร้างเว็บไซต์: WIX กับ WordPress

WIX และ WordPress เป็นเครื่องมือในการช่วยสร้าง Website แต่มีการใช้งานที่ต่างกัน WIX คือเป็น Website Builder (ระบบสร้างเว็บไซต์แบบ Drag & Drop) ในขณะที่ WordPress เป็นระบบ CMS (ระบบการจัดการเนื้อหาบนเว็บไซต์)

ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ WIX:

  • เป็น All-in-One มีเครื่องมือทุกอย่างให้คุณครบในการทำเว็บไซต์
  • ไม่จำเป็นต้องเขียน Code เป็น ไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่อง Code ใดใด
  • ราคามีแบบฟรีไปถึงแบบ Premium ซึ่งต้องเลือกแพคเกจตามการใช้งานของเรา
  • มีผู้ใช้กว่า 70,000,000 คนทั่วโลก
  • มี Design ให้เลือกกว่า 500 แบบ
  • มี App ที่สามารถเพิ่มความสามารถและประสิทธิภาพให้กับเว็บ กว่า 300 Apps
  • มี Customer Support

ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ WordPress:

  • เป็นระบบที่ต้องติดตั้งลงไปที่ Server และ Hosting ก่อนที่จะเริ่มใช้งานได้
  • สามารถจัดการเว็บที่มีข้อมูลหรือเนื้อหาปริมาณมากๆ ได้ดี และเหมาะต่อการทำ SEO มากกว่า
  • ตัวระบบ WordPress ไม่มีค่าใช้จ่าย
  • มีผู้ใช้กว่า 455,000,000 คนทั่วโลก
  • มี Design หรือที่เรียกว่า “Theme“ ให้เลือกมากกว่า 50,000 แบบ มีทั้งแบบฟรีและ Premium (เสียเงิน)
  • มี App หรือที่เรียกว่า “Plugin” ที่สามารถเพิ่มความสามารถและประสิทธิภาพให้กับเว็บ มากกว่า 50,000 ปลั๊กอิน
  • เป็น Platform อันดับ 1 สำหรับการทำ Blog
  • ระบบการดูแลหลังการขายเป็นรูปแบบ Tutorials หรือถ้าซื้อ Theme แบบ Premium จะมี Customer Support ของแต่ละ Theme

ในภาพรวมแล้ว WIX มีการใช้งานที่ง่ายกว่ามาก แต่ WIX นั้นสามารถเปลี่ยนรูปแบบของเว็บไซต์ได้น้อยกว่า เพราะต้องใช้องค์ประกอบทุกอย่างในเว็บตามที่ WIX มีให้เลือก รวมถึงถ้าเลือกใช้ WIX แล้วจะไม่ต้องเหนื่อยหา Hosting หรือไปจด Domain Name ที่อื่น เพราะ WIX มีเป็นแพคเกจให้เลือก โดย Domain Name ต้องชำระเป็นรายปี และ Hosting สามารถเลือกชำระเป็นรายเดือน หรือถ้าเลือกชำระเป็นรายปีจะถูกกว่านิดหน่อย นั่นหมายความว่าเราจะไม่สามารถย้ายเว็บไซต์ที่อยู่ใน WIX ไปที่อื่นได้เลย และต้องชำระค่าบริการตลอดการใช้งาน

CMS อย่าง WordPress มีการใช้งานที่ยากกว่า WIX ผู้ทำเว็บไซต์ต้องทำความรู้จักและเรียนรู้ระบบ WordPress สักเล็กน้อยก่อนที่จะสามารถใช้งานได้อย่างเต็มรูปแบบ แต่เราจะสามารถตกแต่งเว็บของเราได้มากกว่า

นอกจากนี้เรายังต้องเรียนรู้การติดตั้ง WordPress และการหา Hosting อีกด้วย ถึงจะฟังดูวุ่นวายกว่า แต่มันสะดวกกว่าที่คิด เพราะ Hosting ส่วนมากมีตัวเลือกให้ติดตั้ง WordPress แบบคลิกเดียวจบ (1-Click Installation) ตัว WordPress เองไม่มีค่าใช้จ่าย แต่เราต้องจดโดเมนและหา Hosting เอง ซึ่งราคารายปีคุ้มค่ากว่า และมีแพคเพจมากมายให้เลือก อีกทั้งยังมี Theme และ Plugins มากมายให้เราได้เลือกใช้ตามความเหมาะสมกับเว็บของเรา ซึ่งมีทั้งแบบฟรีและ Premium (เสียเงิน)

รูปภาพจาก sitebuilderreport.com

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงแค่ภาพรวมเท่านั้น คราวนี้เรามาเปรียบเทียบกันแบบเจาะลึกมากขึ้นของแต่ละระบบกัน

ระบบ Editor
WIX เป็นระบบ Drag & Drop เหมือนการทำ PowerPoint โดยการเลือกจากตัวเลือกที่มีให้เช่น ตัวหนังสือ, รูปภาพ, Background เป็นต้น

WordPress จากที่กล่าวไปข้างต้นว่าจะต้องเรียนรู้วิธีใช้งานก่อน หลังจากนั้นสามารถเพิ่มข้อมูลตามที่เราต้องการได้เช่นเดียวกัน

ความพิเศษของ WordPress คือเราสามารถเพิ่ม Plugin เพื่อเสริม Feature ให้ WordPress เก่งขึ้นได้ เช่น Elementor

Elementor จะทำหน้าที่แปลงโฉม WordPress ให้ใช้งานแบบ Drag & Drop ได้ทันที พร้อมมีตัวเลือกมากมายให้เลือก สามารถใช้งานได้ฟรี หรือถ้าต้องการ Features แบบจัดเต็มก็สามารถซื้ออัพเกรดเป็นแบบ Pro ได้ โดยมีราคาเริ่มต้นที่ $49 (ประมาณ 1,500 บาท)

Design และ Themes
สำหรับ WIX นั้น Template ที่มีให้เลือกแบ่งเป็นหมวดต่างๆ เช่น บริษัท, ร้านค้า, ร้านอาหาร, Blog เป็นต้น ดีไซน์ทั้งหมดที่มีให้เลือก สามารถดูได้จากในเว็บของ WIX เองเท่านั้น และเมื่อเลือกดีไซน์ที่ต้องการแล้วไม่สามารถเปลี่ยนได้

ดีไซน์ของเว็บสำหรับ WordPress ใช้คำว่า “Theme” ซึ่งมีให้เลือกมากกว่า 50,000 แบบ มีทั้งฟรีและ Premium

(Theme แบบฟรีในระบบ WordPress เอง)

(Theme แบบ Premium ราคาเริ่มต้นที่ $15 (ประมาณ 475 บาท) มีหลากหลายเว็บไซท์ที่เสนอขาย WordPress Theme หนึ่งในเว็บยอดนิยมที่สุดคือ themeforest)

App และ Plugins
Features เพิ่มเติมต่างๆ ใน WIX เรียกว่า “App” เราสามารถเลือก App ที่อยู่ใน WIX เพื่อติดตั้งให้กับเว็บของเรา เช่น Live Chat, Contact Form, Store เป็นต้น แต่ App ทั้งหมดที่เราสามารถใช้ได้ คือ App ที่อยู่ใน WIX เท่านั้น

ส่วน WordPress นั้น ระบบ features ต่าง ๆ ที่เราต้องการติดตั้งให้เว็บของเรา เรียกว่า “Plugin” และส่วนใหญ่ “ฟรี”

Plugin ยอดนิยมของ WordPress เช่น Google Analytics, WooCommerce (ร้านค้าออนไลน์), Contact Form, Live Chat, Yoast (ตัวช่วยทำ SEO) เป็นต้น

นอกเหนือจาก Plugin ต่าง ๆ ที่ใน WordPress มีให้เราเลือกแล้ว เรายังสามารถหา Plugin แบบ Premium มาติดตั้งให้เว็บเราได้อีกด้วย ราคาเริ่มต้นที่ $10 (ประมาณ 320 บาท) เช่น ระบบจองโรงแรม, ระบบอสังหาริมทรัพย์, ระบบ Event เป็นต้น หนึ่งในเว็บยอดนิยมสำหรับ Premium Plugin คือ codecanyon

Search Engine Optimization (SEO)
Setting แบบพื้นฐานในการทำ SEO ทั้ง 2 ระบบสามารถทำได้เหมือนกัน เช่น

  • การเปลี่ยน Title Page, Meta Descriptions และ H1-H6 Tags
  • Sitemap
  • ตั้งค่า Alt Tags ให้รูปภาพ
  • ตั้งชื่อ URLs ได้
  • สามารถทำให้เว็บไซต์แสดงผลได้ดีใน Smartphone และ Tablet
  • ติดตั้ง Tracking ของ Google Analytics ได้

สำหรับ Website Speed, Backlink, Indexing/Crawling/Blocking นั้นเป็นปัจจัยที่มีผลต่อ SEO โดยตรง WordPress ให้ความยืดหยุ่นเราในการติดตั้งตรงนี้มากกว่า ในขณะที่ WIX ไม่มี

อย่างไรก็ตาม บริษัท Ahrefs ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการเกี่ยวกับ SEO ได้ศึกษาและวิเคราะห์เว็บไซต์มากกว่า 6 ล้านเว็บ และพบว่า 46.1% ของเว็บที่ใช้ WordPress มีผู้เข้าชมแบบไม่มีค่าใช้จ่าย (Organic Traffic) มากกว่า ในขณะที่ WIX ได้รับ Organic Traffic เพียงแค่ 1.4% เท่านั้น ทั้งนี้ต้องสันนิษฐานว่าคนที่ทำเว็บด้วย WordPress อาจจะให้ความสำคัญในการทำ SEO มากกว่าคนที่ใช้ WIX

ราคา
ราคาของ WIX มีแบบฟรีให้ใช้ แต่จะต้องใช้โดเมนของ WIX เช่น yourwebsite.wix.com ถ้าต้องการใช้ชื่อโดเมนของเราเองต้องสมัครสมาชิกแบบเสียค่าบริการ โดยจะชำระแบบรายปีหรือรายเดือนก็ได้ เมื่อสมัครแล้วปีแรกเราจะได้โดเมนเนมฟรี และปีต่อไปต้องต่ออายุโดเมนประมาณ $15 ต่อปี (ประมาณ 450 บาท)

สำหรับแพคเกจของ WIX นั้น เราจะต้องชำระค่าบริการตลอดการใช้งาน และไม่สามารถย้ายเว็บที่อยู่ใน WIX ไปที่อื่นได้
– ราคาเริ่มต้นสำหรับเว็บไซต์ทั่วไปอยู่ที่ $156 ต่อปี (ประมาณ 5,000 บาท)
– ราคาเริ่มต้นสำหรับเว็บไซต์แบบธุรกิจและ E-Commerce อยู่ที่ $276 ต่อปี (ประมาณ 8,900 บาท)

ราคาของ WordPress เองนั้น “ฟรี” แต่เราต้องหา hosting และที่จดโดเมนเอง โดย hosting ราคาเริ่มต้นที่ประมาณ 600 บาทต่อปี และโดเมนเนมเริ่มต้นที่ 300 บาทต่อปี ซึ่งเมื่อรวมกันแล้ว อาจมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นเพียงแค่ 900 บาทต่อปี สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่

บริการลูกค้า (Customer Support)
สำหรับ WIX นั้นมีการบริการลูกค้าทาง E-mail และมีข้อมูลความรู้ทั่วไปที่ทุกคนสามารถเข้าไปอ่าน เรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้ อีกทั้งยังมีเบอร์โทรติดต่อเจ้าหน้าที่อีกด้วย แต่เป็นเบอร์ที่ประเทศอเมริกา และยังไม่มีเจ้าหน้าที่บริการเป็นภาษาไทย

ส่วน WordPress ไม่มี Customer Support แต่มี WordPress Codex ซึ่งเป็นคลังความรู้ออนไลน์ที่เราสามารถเข้าไปศึกษาและเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาด้วยตนเองได้

ถึงแม้ว่า WordPress จะไม่มีการบริการลูกค้าโดยตรง แต่ WordPress มี Online Community ที่ใหญ่มาก ๆ ทั้งต่างประเทศและในไทย เราสามารถค้นหาคำตอบสำหรับปัญหาส่วนใหญ่ที่เรามีได้ หรือจะดูคลิปการทำเว็บไซต์ใน Youtube หรือจะเข้า WordPress Facebook Group ของคนไทยก็ได้

ระบบความปลอดภัย
สำหรับ WIX ถ้าผู้ใช้งานตกลงทำเว็บไซต์กับ WIX แล้ว ทาง WIX จะมีทีมงานที่คอยดูแลส่วนนี้ให้ด้วย

แต่ถ้าเราใช้ WordPress เราต้องเลือก Hosting ที่มีความน่าเชื่อถือ และมีระบบความช่วยเหลือที่ดี นอกจากนั้นเราต้องติดตั้งเว็บไซต์ของเราให้มีความปลอดภัยด้วย เช่นการใช้ Plugin ที่ช่วยดูแลด้านความปบอดภัยอย่าง WordFence หรือ Limit Logins เป็นต้น

Maintenance (การดูแล)
เนื่องจาก WordPress ไม่มี Customer Support โดยตรง เราต้องคอย Update และ Backups ข้อมูลเอง ในขณะที่ WIX ดูแลส่วนนี้ให้แล้วรวมในค่าบริการ

เปรียบเทียบจุดเด่นและจุดด้อย

สรุปแล้วควรใช้ WIX หรือ WordPress ดี?
ที่จริงแล้วไม่มีคำตอบที่ผิดถูก ไม่มีคำตอบว่าใครดีกว่ากัน ทุกอย่างขึ้นอยู่กับผู้ใช้ว่าสะดวกใช้แบบไหนมากกว่า และ Features ของใครตอบโจทย์ของการทำเว็บของผู้ใช้มากกว่า

ลองอ่าน Checklist ด้านล่างดูเพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจ
✅ ถ้าคุณแค่ต้องการทำเว็บไซต์ด้วยตัวเองอย่างง่ายและเร็ว เช่น ต้องการเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูล เน้นแค่รูปภาพกับตัวหนังสือ และมีไม่เกิน 5 หน้า หรือขายสินค้าไม่กี่ชิ้น ควรเลือก WIX
✅ ถ้าคุณต้องการสิ่งที่นอกเหนือจากที่กล่าวไปแล้วด้านบน อยากจัดการระบบทุกอย่างในเว็บ อยากมี features เยอะๆ ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และมีเวลา ควรเลือก WordPress
✅ ถ้าคุณอยากทำ Blog ควรเลือก WordPress
✅ ถ้าคุณอยากทำร้านค้าออนไลน์ E-Commerce, สินค้าไม่เยอะ (ไม่เกิน 20 SKUs) ควรเลือก WIX แต่ถ้าคุณมี สินค้าเยอะ (มากกว่า 20 SKUs) ควรเลือก WordPress

สำหรับใครที่กำลังตัดสินใจอยู่ว่าจะเริ่มต้นทำเว็บด้วย WIX หรือ WordPress ดี ทีมงาน UNBOX BKK หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้คุณได้คำตอบ และเลือกระบบที่ตอบโจทย์ความต้องการของคุณมากที่สุดนะคะ 😊

Contributor

Ploy Jieampanich

Tech Savvy, Web Designer, Digital Marketer, Movies and Music Lover.

Contributor

Share this post with your friends

More Articles

blog
Karn Triamsiriworakul

อยากจะเป็น YouTuber ต้องทำยังไงบ้าง?

“จอเสื่อมแล้วครับ ซ่อมไม่ได้” ส่วนหนึ่งก็เป็นสิ่งที่ผมทำใจไว้อยู่แล้วว่าโทรทัศน์ที่บ้านจะต้องมาถึงวันที่มันสิ้นอายุขัย แต่ความรู้สึกถัดจากความเสียดายโทรทัศน์เครื่องเก่า ก็เป็น “ต้องไปดูรีวิวทีวีใน YouTube ซะแล้ว” เพราะเมื่อถึงเวลาต้องซื้อของชิ้นใหญ่ ราคาสูง

Read More »
Comodo SSL