เบื่อด้วย Burnout อีก! คุยกับ ‘มะเฟือง’ นักจิตบำบัดเกี่ยวกับสารพันความล้าของคนทำงานช่วง COVID-19

จากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่แกมบังคับให้ทุกคน Stay Home, Stay Safe หยุดอยู่กับบ้านและเผชิญโลกกว้างบน Online Platform แทน อาจทำให้วิถีชีวิตของหลายคนเปลี่ยนไป จากที่เคยสัญจรไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระก็อาจจะต้องกลายเป็นคนติดเตียง ติดโซฟาอยู่ที่บ้านตลอด 24 ชั่วโมง จากที่เคยได้ออกไปท่องเที่ยวในวันหยุดหรือพบปะผู้คนในช่วงสุดสัปดาห์ ก็กลายมาเป็นการสิงอยู่กับหน้าจอตลอดทั้งวัน ซึ่งแน่นอนว่าหนึ่งในปัญหาที่เกิดตามมาก็คือความรู้สึก Overwhelmed ที่ทุกอย่างพัดเข้ามาเยอะแยะไปหมด

ในบทความนี้ ทีมงาน UNBOX เลยได้เชิญ คุณมะเฟือง เรืองริน อักษรานุเคราะห์ นักจิตบำบัดคนเก่ง เจ้าของเพจ Beautiful Madness by Mafuang มาพูดคุย เกี่ยวกับโลก Online VS. Offline กับการหาจุดสมดุล ภาวะ Burnout และวิธีการที่จะช่วยเติมไฟให้กับตัวเอง ถ้าหากช่วงนี้รู้สึกเหนื่อยล้า หมดแรงบันดาลใจ หวังว่าบทสัมภาษณ์นี้จะช่วยให้เพื่อนๆเข้าใจกับความรู้สึกตัวเองได้มากขึ้นค่ะ

Online VS. Offline จะหาจุดที่มัน Balance ที่สุดได้ยังไง?

คุณมะเฟือง: สถานการณ์ตอนนี้มันค่อนข้าง Tricky เพราะว่าหลายคนเวลา Work from Home ก็ต้องทำงานบน Laptop ตลอดเวลา ซึ่งเมื่อก่อนตอนที่เรายังไปทำงานที่ Office ได้มันก็ยังมีการ Interact กับคนอื่นๆ มีการเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง แต่พอคราวนี้ทำงานอยู่ที่บ้าน อยู่แต่ในบรรยากาศเดิมๆ จ้องหน้าจอแบบเดิม แล้วเวลาที่จะพักก็ต้องไถเฟซบุค ดู Netflix ละ เปลี่ยนกิจกรรมแต่ก็ยังเป็นการจ้องหน้าจอเหมือนกัน ร่างกายเราอาจจะยังไม่ทัน Register ว่าเฮ้ย อันนี้ช่วงพักแล้วนะ ไม่ได้ทำงานแล้วนะ มันเลยอาจทำให้คนรู้สึกล้าได้ง่ายมากขึ้นกว่าเดิม เพราะฉะนั้นที่เฟืองอยากแนะนำก็คือพยายามหากิจกรรมอย่างอื่นที่มันตัด Online Mode ของเราออกได้จริงๆ อย่างเช่น การนั่งอ่านหนังสือ ลงไปทำสวนบ้าง หรือแม้แต่การมองพระอาทิตย์ตก พยายามหากิจกรรมทำที่ห่างจาก Screen Time จริงๆ เพื่อที่จะบอกกับร่างกายตัวเองว่านี่คือเวลาที่ฉันจะพักผ่อนจริงๆ แล้วนะ

มีสัญญาณอะไรที่ร่างกายพยายามเตือนเราว่า ‘เธออยู่กับหน้าจอมากเกินไปแล้วนะ’ บ้างหรือเปล่า?

คุณมะเฟือง: มันยากตรงที่แต่ละคนจะมีอาการที่ไม่เหมือนกัน หลายครั้งที่เราอาจจะรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ปวดตา ปวดหัว ปวดท้องเครียด หรือว่ารู้สึก Obsessed เสพติดกับการอยู่ในโซเชียลมีเดียมากๆ เลยนะ แต่ร่างกายมันไม่หยุด เราอาจจะลองตั้งเวลากับตัวเองว่าวันนี้จะอยู่กับหน้าจอนานขนาดไหน เพราะถ้าปล่อยให้ตัวเองอยู่กับมันมากเกินไป อาจจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการ Burnout ต่อได้

Burnout Syndrome มันคือความรู้สึกอย่างไร?

คุณมะเฟือง: เราจะรู้สึกว่ามันไม่มีแรงบันดาลใจจะทำอะไร หรือไม่มีแม้แต่อารมณ์ที่จะรู้สึกโต้ตอบกับอะไรเลย ใช้ชีวิตเหมือนเป็นหุ่นยนต์ มีอะไรเข้ามาก็ทำไปตามหน้าที่ให้จบๆไป ซึ่งเราเข้าใจนะว่าที่หลายคนเป็นอยู่อาจจะเป็นเพราะว่าทุกคนรู้สึกผิดที่จะ Burnout ซะด้วยซ้ำ มันเป็นชุดความคิดที่ว่าเราไม่ควรมาบ่นเรื่องงานเยอะ ควรจะรู้สึกโชคดีขนาดไหนแล้วที่ยังมีงานให้ทำอยู่ ซึ่งหลายคนกำลังเป็นแบบนี้อยู่จริงๆ นะ

แล้วมีวิธีเช็คตัวเองไหมว่าเรากำลังเริ่มขยับเข้าใกล้ภาวะ Burnout มากขึ้น

คุณมะเฟือง: เมื่อใดที่เริ่มรู้สึกว่าตัวเองเป็นหุ่นยนต์ เริ่มรู้สึกว่ามันไม่ค่อยมีชีวิตและจิตใจ ซึ่งความเครียดและความรู้สึกเหนื่อยทุกคนมีได้อยู่แล้วล่ะ แต่การ Burnout มันคือจุดที่เราไม่รู้สึกอะไรแล้ว เหมือนทำไปวัน ๆ อยู่ไปวันๆ ปิดอารมณ์และใช้ชีวิตเหมือนหุ่นยนต์ ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเรารู้ตัวเองไม่ทันมันก็อาจจะพัฒนาไปเป็น Depression หรืออาการทางจิตอื่นๆ ได้ เพราะมันคือภาวะที่คนรู้สึก Helplessness วิธีก็คือคอยเช็คกับตัวเองว่าเรายังรู้สึกมีชีวิตชีวากับเรื่องอะไรสักอย่างหรือเปล่า ยังเจอความสนุกหรือยังรู้สึกกับอะไรบางอย่างได้อยู่ไหม ถึงแม้ว่าจะเป็นอารมณ์ที่ Negative ก็ตาม เพราะหลายครั้งที่เรา Burnout มันจะเป็นความรู้สึกที่เราขี้เกียจจะรู้สึกแล้ว เราจะไม่โกรธ ไม่รำคาญ ไม่ตอบรับกับอะไรเลย

ถ้าไฟในการใช้ชีวิตหรือไฟแห่งแรงบันดาลใจนี้เริ่มมอด เราจะ Spark มันใหม่ให้กับตัวเองได้อย่างไร?

คุณมะเฟือง: เขาใช้คำว่า Step out of your role into your soul เราอาจจะหาเวลาสักแค่ 5 นาทีในช่วงระหว่างวันเพื่อที่จะได้กลับมาเป็นตัวเอง ได้ Self Care ซึ่งตอนนี้มันอาจจะยากเพราะเราคงไม่ได้สามารถออกไปสปาหรือดูแลตัวเองได้ด้วยวิธีนั้น แต่เราอาจจะลองหาเศษเสี้ยวของเวลาว่างในวันนั้นๆ ให้ได้อยู่กับ Soul ของตัวเองจริงๆ อย่างเช่น การแต่งหน้าในตอนเช้าก่อนเริ่มวัน หรือระหว่างล้างจานอาจจะเปิดเพลงที่เราเคยชอบฟังมันมาก อย่างเช่น เพลงของ Britney Spears ที่ทำให้เราได้ปลดปล่อยตัวเอง หรือว่าบางคนที่ชอบเพลงแจ๊สอาจจะเปิดฟังระหว่างอาบน้ำซึ่งมันก็อาจจะช่วยเตือนความจำว่า จริงๆ แล้วเราก็เป็นคนละเอียดอ่อนแต่ว่าแค่ในเนื้องานอาจจะไม่ได้มีโอกาสให้เราโชว์ด้านนี้ของตัวเองออกมามากนัก

นอกจากสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงนี้แล้ว มันมีปัจจัยอย่างอื่นอะไรอีกบ้างที่ทำให้เราอาจเกิดภาวะ Burnout ได้

คุณมะเฟือง: เฟืองคิดว่ามันคือโลกแห่งทุนนิยมด้วยที่เป็นปัจจัยที่ทำให้คน Burnout กันมากขึ้น อย่างแรกเลยคือเราปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคของ Capitalism มี Value ที่บอกให้เราทำงานไปเรื่อยๆ ยิ่งเรา Contribute ให้กับงานและองค์กรได้เยอะเท่าไร มันยิ่งหมายถึงว่าเรากำลังจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับมากเท่านั้น ซึ่งในโลกของการทำงานแบบเข้า 9 ออก 5 มันยากมากที่เราจะสามารถสัมผัสถึงผลงานจากใจจริง เพราะงานทุกอย่างมันถูกส่งกลับหาต้นทางหมดเลย ถ้าไม่นับว่า Passion ของคุณคือเงิน หลายคนก็จะเกิดคำถามว่าเราทำงานไปเพื่ออะไร นี่คือสิ่งที่ใจเราต้องการจริงหรือเปล่า

อีกข้อคือโลกแห่งทุนนิยมเป็นโลกที่ไม่ได้ให้ค่ากับความรู้สึกหรือให้ค่ากับ ‘การพักผ่อน’ คนที่ทำงานไม่หนักพอจะโดน Shame เพราะฉะนั้นสำหรับการทำงานแบบ 9 to 5 นั้น ถ้า 5 โมงเย็นปุ๊บเราปิดคอมปั๊บจะรู้สึกผิดมาก มันจะเป็นความรู้สึกที่เราต้อง Do More ต้องทำให้มากขึ้นนะ และในวันที่ต้องพักจริงๆ มันจะกลายเป็นความรู้สึกตะขิดตะขวงใจว่าทำไมมันถึงว่างและโล่งจัง แล้วเราก็ต้องหยิบมือถือขึ้นมาเช็คข่าว เช็คหุ้น เช็คอีเมลซะหน่อย วันไหนที่ไม่ได้จับงานจะเป็นความรู้สึกผิด ร่างกายก็จะมองว่าการพักผ่อนเป็นอะไรที่ Negative

พอผสมกับสถานการณ์โควิดในตอนนี้ มันเลยกลายเป็นการ Burnout จากการทำงานอยู่แล้ว และความรู้สึกผิดที่จะ Burnout อย่างเคสนึงที่เฟืองได้คุยมา พี่เขาก็รู้สึกผิดที่มาบ่นเรื่องงานเพราะเขารู้ว่าหลายคนในตอนนี้ไม่มีงานให้ทำ มันเลยกลายเป็นความไม่กล้าที่จะ Process ความเหนื่อยของตัวเอง แล้วก็เค้นบังคับให้ตัวเองรู้สึก Appreciate จำนวนงานที่เยอะนี้ไว้ให้ได้ พยายามกดมันเอาไว้

วิธีแก้ก็คือ Be True to Your Feeling เวลาที่เรามีอารมณ์หรือภาวะที่มันเป็น Negative อย่างความเหนื่อย ความโกรธ ความท้อ ให้พยายามรู้สึกถึงมัน ถ้าไม่เช่นนั้นมันจะกลายเป็นภาระของเราเพราะความรู้สึกเหล่านี้จะมาโชว์ผ่านทางอาการทางร่างกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง อาเจียนต่างๆ เราควร Acknowledge และจับให้ได้ว่าความรู้สึกนี้อยู่ที่ Level ไหนแล้ว

นอกเหนือจากเรื่องการทำงาน ภาวะหมดไฟที่หลาย ๆ คนเข้ามาปรึกษาคุณมะเฟือง ช่วงนี้คนประสบกับปัญหาหรือได้ผลกระทบทางใจจาก COVID-19 เรื่องอะไรอีกบ้าง?

คุณมะเฟือง: จริงๆ แล้วคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดมีเรื่องราวที่หลากหลายมากและเยอะมากนะ แต่ถ้าเป็นประเด็นที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือเรื่องการหา Meaning of Life อย่างช่วงนี้ที่ว่างหรือว่าลาออกจากงานแล้ว คนจะเริ่มตั้งคำถามแล้วว่าเอาจริงๆ เราอยากทำอะไร เราชอบอะไรกันแน่ Direction ของชีวิตจะไปทางไหนต่อ ยังไงดีนะ อย่างเมื่อก่อนเราอาจจะมีเป้าหมายที่แน่นและไม่ได้มีใครคาดคิดว่าจะเกิด COVID ซึ่งเวลาที่ชีวิตเจอกับความไม่แน่นอน หลายอย่างที่เราเคยตั้งเป้าเอาไว้หรือว่าแพลนที่กำลังเดินตามอยู่มันก็พังไปเลย เฟืองก็พยายาม Work ไปเรื่อยๆ ในแต่ละเคสเพื่อหา Value ของแต่ละคนว่ามันคืออะไร เราก็พยายาม Explore บางเคสอาจจะย้อนกลับไปดูวัยเด็กของเขาว่าความชอบของเขาในตอนนี้มัน Match กับในสมัยนั้นไหม มันเป็นความรู้สึกใหม่หรือเปล่า เกิดขึ้นได้ยังไง ซึ่งทุกคนแตกต่างกันหมดเลย หน้าที่ของเราในตรงนี้ก็คือการช่วยเขาหา Value ว่า Core หรือตัวตนที่เป็นแก่นของเขาคืออะไร

อีกเรื่องก็คือปัญหาที่เกี่ยวกับ Relationship บางคู่อยู่ด้วยกันเยอะเกินไป บางคู่ไม่ได้เจอกันสักที หรือบางคนมีเวลาว่างที่จะอยู่กับตัวเองเยอะ ก็อาจจะมีการนั่งทบทวนเรื่องความสัมพันธ์ว่าจริงๆ แล้วคู่ของเราคือใช่หรือเปล่า เรายังรักเขาหรือเปล่า หรือว่าเราอยากกลับไปเป็นโสด มันมีหลายคำถามที่อาจเกิดขึ้นได้และก็อาจจะกระทบกับ Relationship Status ของคนๆ นั้น ซึ่งมันก็เป็นช่วงเวลาที่ Challenging เหมือนกัน

อีกหนึ่งปัญหาที่เราเชื่อว่าหลายๆ คนกำลังประสบก็คือความเครียดและความรู้สึกหดหู่จากการเสพข่าวสาร มีวิธีการจัดการกับความรู้สึกหรือพฤติกรรมการเสพข่าวของเราอย่างไรได้บ้าง?

คุณมะเฟือง: ถ้าเป็นคำแนะนำของเฟืองนะ การที่จะตัดการเสพข่าวไปเลยอาจจะไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนที่สุด เพราะสุดท้ายแล้วเราก็ยังคงอยู่ในโลกของข่าวสารที่จำเป็นต้องรู้สิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว และไม่ Ignore ไม่เพิกเฉยกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น อย่างแรกที่เราทำได้คือการจัดตารางเวลาให้กับตัวเอง อย่างเช่นถ้าคุณรู้กิจกรรมในวันนั้น ๆ ว่ากำลังจะมีนัดหมายประชุมงานนะ หรืออย่างเฟืองเองที่มีนัดกับคนไข้ ช่วงเช้าของวันนั้นเราก็จะไม่แตะข่าวเลยแต่เปลี่ยนมาฟังเพลงแจ๊ส เพลงเรกเก้เพื่อปรับอารมณ์ให้สดใส พอทำงานของเราเสร็จแล้วค่อยเริ่มเช็กข่าว

อย่างที่สองก็คือการรู้จัก Trigger ของตัวเองว่าอะไรที่จะกระตุ้นความรู้สึกของเรา อย่างเช่น บางคนอาจจะไม่ชอบฟังเสียงข่าว ก็อาจจะเปลี่ยนมาเป็นการอ่านแทน หรือถ้าเป็นคนที่ถูก Trigger โดยรูปที่ชวนให้หดหู่ ก็อาจจะต้องระวังตัวเองให้ใช้ Social Media เมื่อพร้อมจริงๆ เพราะว่าบน Platform พวกนี้เราไม่มีสิทธิ์เลือกว่าอยากเห็นอะไร ไม่เห็นอะไร ทุกอย่างถูกป้อนเข้ามา เราอาจจะเลื่อน Instagram ดูรูปหมารูปแมวอยู่ แล้วอยู่ดีๆก็มีรูปคนนอนตายแทรกเข้ามา เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่กำลังจะเข้า Social Media ให้บอกกับตัวเองว่าใจต้องพร้อม

อย่างที่สามก็คือคอยเช็คกความรู้สึกของตัวเองว่า ณ ตอนนั้นเรายังโอเคไหม มันคือ Concept ของ Mindfulness ที่หลายคนอาจจะรู้สึกว่ามันคือการหายใจเข้า หายใจออก แต่จริงๆ แล้วมันคือการฝึกช่วงเวลาที่ได้อยู่กับตัวเองได้ ซึ่งจริงๆ แล้วเมื่อเรามีความ Mindful ว่าเกิดอะไรขึ้นรอบตัวเราจะไม่รู้สึกแกว่งหรือเหลวแหลกไปกับเรื่องรอบตัวมากขนาดนั้นจนถึงขั้นที่มันเข้ามากัดกินใจ เวลาอ่านข่าวเราก็อาจจะฝึกจิตด้วยการบอกกับตัวเองว่า โอเค ตอนนี้กำลังจะเสพข้อมูลข่าวสาร เรารู้สึกอย่างไรกับมันบ้าง คอย Check In กับอารมณ์ตัวเองอยู่เสมอ

ในเมื่อเราหนีจากวังวนการรับข่าวสารไม่พ้น คุณมะเฟืองคิดว่า Social Media Detox ยังคงจำเป็นอยู่ไหม?

คุณมะเฟือง: เฟืองคิดว่ายังคงจำเป็นอยู่นะ แต่วิธีการอาจจะขึ้นอยู่กับตัวบุคคล บางคนอาจจะต้องหักดิบ บางคนอาจจะเป็นการใช้วิธี Harm Reduction อย่างเช่นการตั้งเวลาเลยว่าวันนี้เราจะเล่น Facebook 15 นาทีต่อวัน หรือ Instagram อีกแค่ 15 นาที และถ้ามีวินัยกับการเซ็ตเวลาให้กับตัวเองแบบนี้ เฟืองคิดว่ามันสามารถช่วยลดความตึงเครียดได้

สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือการคอยเช็คสภาพจิตใจของตัวเอง ซึ่งคนที่มักจะได้รับผลกระทบจากข่าวมากๆ จะเป็นกลุ่มคนที่เป็น Activist เป็นนักเคลื่อนไหว นักกิจกรรม เพราะเขาจะมีความรู้สึกร่วม มีความสงสารให้กับบุคคลในข่าว เพราะฉะนั้นถ้าสมมติว่าคุณรู้สึกถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่งหนักๆ คุณจะต้องดึงตัวเองออกมาแล้วเติมตัวเองให้เต็ม ดูแลสภาพจิตใจของตัวเองให้ดีก่อนแล้วค่อยเข้าไปอยู่ในโลกของ Social Media

เคล็ดลับในวันที่รู้สึกไม่โอเคเลยกับเรื่องรอบตัว มีวิธีการไหนที่จะพาเรากลับมาได้อย่างเร็วที่สุดไหม?

คุณมะเฟือง: สิ่งที่เฟืองชอบทำก็คือ Breathing Exercise อย่างเช่นก่อนเวลาที่จะเข้า Session กับคนไข้แล้วหัวเราไม่ไหวแล้ว เพิ่งจะเสพข่าวที่น่าหดหู่ใจมา เฟืองก็จะกลับมาโฟกัสที่ลมหายใจ หายใจเข้า นับ 1 ถึง 4 กลั้นหายใจ นับ 1 ถึง 4 แล้วหายใจออก ทำวนไปประมาณ 5 รอบ เมื่อลมหายใจของเราเริ่มช้าลง มันจะส่งผลไปที่สมองหรือร่างกายให้ Relax มากขึ้น ควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น เห็นทุกอย่างได้ชัดขึ้นค่ะ

สามารถติดตามคอนเทนต์และอัปเดตเพิ่มเติมของคุณมะเฟืองได้ต่อบน เพจ Beautiful Madness by Mafuang


Contributor

Nisara Sittatikarnvech

A full-time Content Editor, part-time travel and lifestyle blogger. Mint has found her passion to become a story teller through the use of text, images and videos since she graduated from Faculty of Arts, Chulalongkorn University. Moving from the status of a Junior Writer to Social Media Editor at CLEO magazine to Content Editor at LINE TODAY, she has learned that ‘content creation’ is what she lives for. She also founded a travel blog called Travelerspulse where she continues to share her stories from amazing journeys around the globe!

Contributor

Share this post with your friends

More Articles

Comodo SSL